นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แถลงข่าวเนื่องในโอกาสวันสถาปนากฟภ.ครบรอบ 56 ปี ภายใต้นโยบายการบริหารและพัฒนากฟภ. สู่การเป็นการไฟฟ้าแห่งอนาคตว่า แผนงานโครงการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 เขตพัฒนาเศรษฐกิจ จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ จ.เชียงราย จ.นราธิวาส จ.นครพนม และจ.กาญจนบุรี ใช้งบประมาณรวม 4,000 ล้านบาท โดยคณะกรรมการกฟภ.เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินโครการในวงเงินลงทุน 1,069 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ช่วงปี 58-60
โครงการขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรรายใหม่ จำนวน 29,000 ครัวเรือน ระหว่างเดือนต.ค.58-ก.ย.59 ใช้งบประมาณรวม 1,000 ล้าบาท โดยได้ขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรรายใหม่แล้วจำนวน 32,336 ครัวเรือน หรือ 111.50% ของเป้าหมายโครงการ สำหรับโครงการสว่างไสวทั่วไทยจ่ายไฟทุกครัวเรือน ได้ขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าไปแล้ว จำนวน 31,923 คัวเรือน หรือ 91.21% ของเป้าหมายทั้งโครงการ
การจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของกฟภ. ในปี 59 โดยดำเนินการรื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่ใช้งานและรวบมัดสาย ในปี 59 ระยะทางรวม 1,000 กิโลเมตรควบคู่กับการติดตั้งรางพาดสายสื่อสารใต้คานนั่งร้านหม้อแปลงเส้นทางวิกฤติ ในแหล่งชุมชนเมือง 74 จังหวัดวงเงินงบประมาณ 11.10 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังดำเนินการอำนวยความสะดวกและรวดเร็วในงานบริการให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า โดยการจัดตั้งบริการลูกค้าครอบคลุมทุกภาคส่วนให้ได้รับความสะดวกและรวดเร็ว เปิดให้บริการ PEA Shop ในห้างสรรพสินค้าจำนวน 82 แห่ง ได้ปรับปรุงรถยนต์ให้เป็นรถบริการเคลื่อนที่ PEA Mobile Shop บริการตามชุมชนต่าง ๆ จำนวน 50 คัน มีการพัฒนาระบบงานบริการขอใช้ไฟฟ้าแบบ One Touch Service ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนาศุนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า (1129 PEA Call Center) เข้าสู่ระยะที่ 3 โดยพัมนาเพิ่มประสิทธิภาพจากเดิม 60 คู่สาย เป็น 90 คู่สาย มีการเพิ่มภาษาอาเซียน เช่น ภาษาเมียนมา กัมพูชา และมลายู อีกทั้งได้เพิ่มช่องทาง Social Media ต่าง ๆ ด้วย
ปัจจุบัน กฟภ.มีพื้นที่การให้บริการ 74 จังหวัด สำนักงานให้บริการรวมกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ จำนวนสถานีไฟฟ้า 540 แห่ง ระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูงประมาณ 300,000 วงจร-กิโลเมตร รองรับลูกค้าประมาณ 18.44 ล้านราย ซึ่งมีความต้องการใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุดรวม 20,438.91 เมกะวัตต์ โดยผลประกอบการในช่วง 7 เดือนแรกของปี 59 มีกำไรสุทธิ 15,000 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าจะมีกำไรสุทธิรวมตลอดทั้งปี 59 ประมาณ 20,400 ล้านบาท