ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% ตามเดิม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) รอบที่หกของปี 2559 วันที่ 20-21 ก.ย.นี้ เพื่อรอให้ตลาดและสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความพร้อมมากขึ้น ก่อนที่จะขยับขึ้นดอกเบี้ย Fed Funds ตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านที่สื่อสารออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การประชุมธนาคารกลางโลกที่เมือง Jackson Hole
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ 0.25-0.50% ตามเดิม ในการประชุม FOMC รอบนี้ เพื่อรอให้ตลาดการเงินและข้อมูลเศรษฐกิจสะท้อนความพร้อมต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่านี้ จังหวะการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แผ่วลงไปในเดือนล่าสุด ตลอดจนความไม่แน่นอนอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะที่เหลือของปี
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผลการประชุมเฟดในรอบนี้ น่าจะออกมาสอดคล้องกับมุมมองของตลาดที่เชื่อว่า เฟดจะยังไม่ขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเฟดน่าจะไม่อยากให้ตัวเองกลับกลายมาเป็นปัจจัยที่เพิ่มความผันผวนให้กับตลาด ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ได้" เอกสารเผยแพร่ระบุ
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านได้ออกมาแสดงความเห็นต่อจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เริ่มเป็นไปในทิศทางที่แตกต่างกัน (เจ้าหน้าที่เฟดบางรายกล่าวถึงความเสี่ยงของการขึ้นดอกเบี้ยช้า แต่บางรายก็ออกมากล่าวถึง ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากขึ้นดอกเบี้ยเร็ว) ส่งผลทำให้ดัชนี VIX ที่เป็นดัชนีสะท้อนความกังวลในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 18 อันเป็นภาวะที่บ่งชี้ว่าตลาดเริ่มมีความกังวลค่อนข้างสูงต่อสัญญาณที่สับสนของจังหวะเวลาการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ
ดังนั้นจากข้อมูลล่าสุด ณ ขณะนี้ ที่ตลาดประเมินโอกาสความเป็นไปได้เพียง 18% สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบนี้ ก็เท่ากับว่าหากเฟดสวนกระแสตลาด และตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คงจะสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดค่อนข้างมาก และอาจส่งผลให้ความผันผวนปรับเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่าเฟดน่าจะรอให้ตลาดมีการประเมินการสื่อสารเชิงนโยบายของเฟด และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกระยะ ก่อนที่จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้
สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ยังคงเอื้อให้เฟดสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายใน FOMC รอบก.ย.นี้ คือ แรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะฟื้นตัวใกล้ระดับการจ้างงานเต็มศักยภาพ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง
"ปัจจัยติดตามในที่เหลือของปีนี้ คงได้แก่ 1) Dot Plot และตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจชุดใหม่ของเฟด และ 2) พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะมีผลต่อกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อย่างน้อย 1 ครั้งภายในปีนี้" เอกสารเผยแพร่ระบุ
นอกจากตลาดจะรอติดตามสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยจากถ้อยแถลงของประธานเฟดหลังการประชุม FOMC รอบนี้แล้ว ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชุดใหม่ที่จะเปิดเผยออกมาพร้อมกัน ก็น่าจะเป็นอีกจุดสนใจของตลาดด้วยเช่นกัน เนื่องจากประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ รวมทั้งมุมมองต่ออัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่เฟด (Dot-plot) นี้ คงจะกลายเป็นตัวอ้างอิงในการประเมินถึงโอกาสที่เฟดจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 รอบสุดท้ายของปี โดยหากเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามารถประคองโมเมนตัมการฟื้นตัวไว้ได้ และพัฒนาการของเหตุการณ์ทางการเมืองสหรัฐฯ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบวันที่ 13-14 ธ.ค.59 เพื่อเป็นการรักษาความน่าเชื่อถือของเฟด หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดได้ทยอยออกมาส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องถึงความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้
สำหรับผลต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าความเป็นไปได้ที่เฟดจะยังไม่ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินก่อนการประชุม FOMC รอบสุดท้ายของปีในวันที่ 13-14 ธ.ค. น่าจะทำให้ความเสี่ยง/ความผันผวนที่เกิดจากการไหลออกของเงินทุนอย่างฉับพลันจากประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย อยู่ในระดับที่ทางการสามารถดูแลได้ แต่คงต้องยอมรับว่าความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเริ่มกลับมาประเมินถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ คาดว่าสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่อาจเกิดในช่วงปลายปีนี้ ยังไม่น่าที่จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทยในทันที ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ยังคงเป็นไปในทิศทางที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง คงส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศขนาดเล็ก รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย มีพื้นที่เพียงพอที่จะดำเนินนโยบายการเงินในจังหวะที่แตกต่างจากเฟดได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ ระดับสภาพคล่องในประเทศที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง คงเป็นอีกปัจจัยที่สะท้อนว่าไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบคุมเข้มนโยบายตามเฟด
"ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงมุมมองเดิมว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะทรงตัวที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องไปอีกระยะตลอดปีนี้ เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย" เอกสารเผยแพร่ระบุ