พลเอกนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน นำคณะลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์พลังงานครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และศักยภาพการดำเนินงานสถานีผลิตก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ของบริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด จำกัด ในกลุ่มบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) โดยยืนยันว่าแหล่งก๊าซฯสินภูฮ่อม ซึ่งเป็น 1 ใน 2 แหล่งก๊าซฯสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีปริมาณสำรองใช้อีก 10-14 ปี สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการติดตามภาพรวมการขับเคลื่อน 5 แผนบูรณาการพลังงานระยะยาวในพื้นที่ปฏิบัติจริง และติดตามสถานการณ์พลังงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อสร้างความมั่นใจในด้านพลังงานให้กับประเทศและประชาชนในพื้นที่
รมว.พลังงาน กล่าวว่า การลงพื้นที่ติดตามศักยภาพของแหล่งก๊าซฯสินภูฮ่อม เป็นการติดตามในส่วนของแผนบริหารจัดการก๊าซฯในภาพรวมศักยภาพการผลิต เนื่องจากแหล่งก๊าซฯสินภูฮ่อม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นสถานีการผลิตที่รองรับก๊าซฯที่ผลิตได้จากแหล่งก๊าซฯสินภูฮ่อม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ปัจจุบันแหล่งดังกล่าว มีปริมาณการผลิตแบ่งเป็นก๊าซฯเฉลี่ยประมาณ 108-135 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate) ประมาณ 400-500 บาร์เรล/วัน และคาดว่ามีปริมาณสำรองในส่วนของก๊าซฯ ณ สิ้นปี 58 อยู่ที่ 623.32 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลวปริมาณ 1.69 ล้านบาร์เรล คาดว่าจะใช้ได้อีก 10-14 ปี
กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจากแหล่งก๊าซฯสินภูฮ่อม ตั้งแต่ปี 2550 - 2558 จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 9,481 ล้านบาท โดยจัดสรรไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งเป็นรายได้แผ่นดิน สัดส่วน 40% หรือประมาณ 3,792.4 ล้านบาท อีก 60% จัดสรรไปยังองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยจัดสรรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีการผลิต 2 แห่ง สัดส่วน 20% หรือประมาณ 1,896.2 ล้านบาท จัดสรรให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลในพื้นที่ที่มีการผลิต 11 แห่ง สัดส่วน 20% ประมาณ 1,896.2 ล้านบาท จัดสรรให้องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลในจังหวัดที่มีการผลิตสัดส่วน 10% ประมาณ 948.1 ล้านบาท และที่เหลืออีก 10% หรือประมาณ 948.1 ล้านบาท จัดสรรกระจายไปยัง อบต. และเทศบาลอื่น ๆ อีกทั่วประเทศ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแหล่งก๊าซฯที่สำคัญ 2 แหล่ง คือ แหล่งก๊าซฯน้ำพอง และแหล่งก๊าซฯสินภูฮ่อม โดยที่แหล่งก๊าซฯสินภูฮ่อมมีการผลิตก๊าซฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4.1% ของอัตราการผลิตก๊าซฯทั้งประเทศ โดยก๊าซฯที่ผลิตได้จะนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด โดยนำไปผลิตไฟฟ้าและผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)
นอกจากนี้ยังได้ติดตามเรื่องการเตรียมความพร้อม กรณีการปิดซ่อมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระหว่างวันที่ 17-26 กันยายน 2559 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า กฟผ. ได้มีการเตรียมการรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด
สำหรับกรณีการปิดซ่อมบำรุงประจำปีของแหล่งก๊าซฯสินภูฮ่อม ระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน 2559 จะส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซ NGV ประมาณ 450 ตัน/วัน ซึ่งมาจากแหล่งสินภูฮ่อมประมาณ 10-15 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ จะนำเข้าก๊าซ NGV จากสระบุรี และภาคกลางเข้ามาทดแทนทั้งหมด โดยยืนยันว่าในช่วงเวลาที่มีการปิดซ่อมจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซ NGV ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมอาคารกองสื่อสารองค์กร ซึ่งถูกก่อสร้างและพัฒนาให้เป็นอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) และระบบน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งถือเป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานในหน่วยงานราชการ โดยอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) เป็นโครงการที่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถใช้พลังงานสุทธิภายในอาคารเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) เพื่อเป็นอาคารต้นแบบและเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะสมสำหรับอาคารในประเทศไทย
สำหรับโครงการระบบน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นอีกโครงการที่กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนในการติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ทดแทนการใช้น้ำมันเตาในกระบวนการผลิตน้ำร้อนเพื่อใช้สำหรับอุปโภคและบริโภคในโรงพยาบาล ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งระบบใหม่ จำนวน 2 ระบบ ได้แก่ ระบบผลิตน้ำร้อนสำหรับป้อนหม้อไอน้ำ สำหรับอาคารหม้อไอน้ำ และระบบผลิตน้ำร้อนเพื่อการอุปโภคของหอพักผู้ป่วย
ภายหลังจากการปรับเปลี่ยนระบบดังกล่าวสามารถลดค่าใช้จ่ายรวมกันทั้ง 2 ระบบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ โครงการอนุรักษ์พลังงานของทั้ง 2 หน่วยงาน เป็นมาตรการหนึ่งตามกรอบแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) ที่ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายสำคัญในการลดความเข้มการใช้พลังงานของประเทศลง 30% ภายในปี 2579