พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Startup Thailand & Digital Thailand ภูมิภาค 2016 ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ในระหว่างวันที่ 16-18 ก.ย. ที่ จ.ภูเก็ต เพื่อแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยต่อการเข้าสู่การเป็นประเทศชั้นนำในระดับนานาชาติ โดยการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ และการเข้าสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "การส่งเสริมภูเก็ตสู่ศูนย์กลางธุรกิจสตาร์ทอัพและมืออัจฉริยะ" โดยระบุว่า วันนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการสร้างสะพานเชื่อมโยงบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกันอย่างประชารัฐอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกคนอย่างเท่าเทียมตามกฎหมายสากล ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการไปในทิศทางที่ดี เพราะความร่วมมือกันของพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน โดยข้าราชการและรัฐบาลมีหน้าที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาค ทั้ง 76 จังหวัดให้ได้
อย่างไรก็ดี วันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านต่างๆ มากมาย เหลือเพียงแต่การคิดหาวิธีว่าจะขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้อย่างไรในทุกระดับชั้น ให้มีการร่วมมือกันโดยให้ยึดคติที่ว่า "จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทุกระดับ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีกำลังที่เข้มแข็งสามารถเติบโตได้ ทำร่วมกันอย่างเป็นระบบ นำธุรกิจ SMEs กว่าล้านแห่งเข้ามาอยู่ในทะเบียนทำเนียบ SMEs ประเทศไทยให้ได้ ทำให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายสากล หาจุดเชื่อมต่อ สร้างสะพานที่เชื่อมโยงกันอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และมีธรรมาภิบาล ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและไว้ใจ
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการในวันนี้คือ คิดวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงสร้างการรับรู้ให้ประชาชนมีความเข้าใจ โดยจะต้องยึดถือวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก อาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกันจากทุกภาคส่วน สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพให้สามารถเติบโตขึ้นก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง ขณะที่ก็ต้องเดินหน้าปฏิรูปไปพร้อมกัน อุดหนุนเกื้อกูลกัน พึ่งพาอาศัยกันและกัน บริษัทยักษ์ใหญ่ก็จะต้องดูแลบริษัทเล็ก ให้เติบโตไปพร้อมกันได้โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
"ทุกวันนี้ทั่วโลกมีปัญหาซึ่งเกิดมาจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง เราจึงจะต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา ปรับเปลี่ยนตนเอง สร้างความเข้มแข็ง อย่าเพียงแต่คิดแล้วไม่ดำเนินการ โดยสร้างความเข้มแข็งให้ทุกภาคส่วนทั่วทั้งประเทศ เดินหน้าขับเคลื่อนในทุกจังหวัด ทำให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างเป็นลำดับ จัดเรียงลำดับความสำคัญให้ชัดเจน ร่วมมือกันเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้มีกลไกที่มั่นคง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ และประชาชน ให้ร่วมมือกันเป็นประชารัฐ มุ่งหน้าขับเคลื่อน โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักให้ได้ภายใน 20 ปี ขอให้คิดว่าประเทศเป็นของพวกเราทุกคน และเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืนต่อไป
ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ และได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมทุกรูปแบบ อาทิ การสร้างผู้ประกอบการที่มีความสามารถและและดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกมาเมืองไทย การปรับกฎหมายธุรกิจเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพและสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างรวดเร็ว การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพ ส่งเสริมกิจการร่วมลงทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของสตาร์ทอัพ เป็นต้น โดยการจัดงาน Startup Thailand & Digital Thailand 2016 ทั้งหมดในปีนี้ เป็นการประกาศจุดยืนและความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะใช้ฐานเศรษฐกิจนี้เพื่อการขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0
"งาน Startup Thailand & Digital Thailand ภูมิภาค 2016 ที่ภูเก็ตในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการจัดงาน Startup Thailand และ Digital Thailand ที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น ในพิธีเปิดได้รับเกียรติจากท่านนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การส่งเสริมภูเก็ตสู่ศูนย์กลางธุรกิจสตาร์ทอัพและเมืองอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาและบรรยายพิเศษ การจัดแสดงบูธนิทรรศการทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ บูธแหล่งเงินทุน บูธให้คำปรึกษารวมกว่า 200 บูธ เชื่อว่าจะมีประชาชน นักเรียน นักศึกษา นักลงทุน ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และสตาร์ทอัพจากทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก" นายพิเชฐ กล่าว
ด้านนางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตในการพัฒนาเป็น Smart City จึงคัดเลือกจังหวัดภูเก็ตให้เป็นหนึ่งใน 2 จังหวัดที่เป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ด้านดิจิทัลคู่กับจังหวัดเชียงใหม่ โดยสนับสนุนการพัฒนาและวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การจัดทำโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง, ขยายจุดให้บริการฟรี Wi-fi 1,000 จุด, การแก้ไขปัญหาจราจรโดยระบบเซนเซอร์อัจฉริยะ, การจัดทำศูนย์ภูเก็ต สมาร์ท ซิตี้ อินโนเวชั่น (Phuket Smart City Innovation Park) เพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล (Super Cluster Digital)
นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนภูเก็ตไปสู่ "Phuket Smart City 2020" ซึ่งการจัดงาน Startup Thailand & Digital Thailand 2016 ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการเปิดตัวของ Phuket Smart City อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลที่ขยายผลสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศต่อไป