สถาบันอาหาร-SME Bank-สสว.-สิงห์ฯ เซ็น MOU ผุด World Food Valley Thailand ตอบโจทย์แผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ 20 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 19, 2016 10:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรรชกา ศรีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการพัฒนา World Food Valley Thailand ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยในรูปแบบประชารัฐ และมีการมุ่งเป้าสู่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารสู่ยุค 4.0 โดยคำนึงถึงอนาคตของประเทศ และประชาชนในพื้นที่ สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและแผนอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติของกระทรวงอุตสาหกรรมในอนาคต ที่ควรจะต้องมีการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม และการนำผลงานเหล่านั้นไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวมให้มากขึ้น

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศสู่ยุค 4.0 ควรให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง คือ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและการแข่งขันของผู้ประกอบการอาหารไทยให้เข้าสู่ยุค 4.0 หรือให้เป็นนักรบรุ่นใหม่ 2.การจัดระบบการพัฒนาปัจจัยเอื้อต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยเป็นครัวของโลก เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย เช่น การพัฒนา World Food Valley Thailand ที่มีองค์ประกอบในการให้บริการทั้งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่การให้บริการภาครัฐแบบ One Stop พื้นที่เพื่อการเชื่อมโยงการพัฒนานวัตกรรมและมาตรฐาน ตลอดจนพื้นที่เพื่อการพัฒนากำลังแรงงานภาคอุตสาหกรรม และ 3.การพัฒนาตลาดอุตสาหกรรมอาหารอนาคต และช่องทางการค้าในเวทีสากล เพื่อให้เอสเอ็มอีได้มีโอกาสเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารโลก

นอกจากนี้ควรมีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนในระยะ 20 ปีข้างหน้าให้ชัดเจน ประกอบด้วย 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ S Curve ในสาขาอาหารให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และการสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยในเวทีโลก โดยรวมน่าจะต้องมีจำนวนกว่า 20,000 ราย 2.การเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพให้มีอัตราการขยายตัวให้ได้ 2% ต่อปี โดยการพัฒนามาตรฐานสินค้าอาหารแปรรูปไทยทั้งรสชาติและมาตรฐานตามที่ตลาดต่างๆ ต้องการ 3.การสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถค้าขาย ส่งออกได้บนพื้นฐานของสินค้าที่มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มในตลาดเดิมและตลาดใหม่จนทำให้มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 8% ต่อปี

"ควรมีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการทำงานว่า ประชารัฐร่วมใจประเทศไทยเป็นครัวของโลก และมีการวัดผลของการทำงานจากส่วนแบ่งในตลาดโลก มุ่งสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารติดอันดับ TOP 5 ให้ได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า" นางอรรชกา ระบุ

ด้านนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารได้ร่วมกับบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดทำบันทึกความร่วมมือพัฒนาโครงการ World Food Valley Thailand ขึ้น เพื่อพัฒนาพื้นที่ของบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ที่ จ.อ่างทอง เนื้อที่ประมาณ 1,300 ไร่ ให้เป็นเมืองนวัตกรรมอาหารครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

โดยมีแนวทางความร่วมมือดังนี้ 1.ร่วมมือในการศึกษาพัฒนาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนา World Food Valley Thailand 2.ร่วมมือในการพัฒนาผู้ประกอบการอาหารและบุคลากร รวมถึงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจ (Ecosystem) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 3.ร่วมมือในการส่งเสริม ผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของประเทศ 4.แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้โครงการ World Food Valley Thailand ประสบความสำเร็จโดยรวดเร็ว และ 5.ร่วมมือดำเนินกิจกรรม/โครงการอื่นๆ ตามที่ทั้ง 4 ฝ่ายเห็นสมควร

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า โครงการ World Food Valley Thailand จ.อ่างทอง มีเนื้อที่ขนาดประมาณ 1,300 ไร่ มีเป้าหมายในการพัฒนาสู่การเป็นเมืองนวัตกรรมอาหารอนาคตครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ภายใต้แนวคิด Eco-Industrial Estate พร้อมกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีนวัตกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าของอาหารหรือผลิตภัณฑ์ การพัฒนาธุรกิจ การลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ การสร้างเครือข่ายธุรกิจ การยกระดับสมรรถภาพและความสามารถของกำลังคนอุตสาหกรรมอาหาร รวมไปถึงการอยู่เคียงข้างชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ให้บริการพื้นที่อุตสาหกรรมและบริการงานพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร เบ็ดเสร็จเชิงบูรณาการ ตั้งแต่กิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อาทิ การกำกับดูแลการผลิตและการนำเข้าวัตถุดิบ และปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย บริการวิเคราะห์ทดสอบและการรับรองมาตรฐานของอาหารไทย สามารถเชื่อมโยงการบริการการเงิน เทคนิค ที่ปรึกษา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการออกแบบให้กับผู้ประกอบการด้วยความแข็งแกร่ง 4 ด้าน(ESSE) ได้แก่ 1.พลังงาน เทคโนโลยีและวิศวกรรม (Energy, Technology& Engineering) 2.การพัฒนาผู้ประกอบการแบบยั่งยืน (Sustainable Development) 3.การให้บริการครบวงจร (Services with High Value Facilities) 4.เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(Environment-friendly) เป็นต้น เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 2560 จะมีความชัดเจนในรูปแบบการดำเนินงาน และภายใน 3 ปี จะสามารถเริ่มลงมือก่อสร้างได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ