ไทย-บราซิลเล็งร่วมวิจัยพัฒนาการผลิตเอทานอลจากอ้อย พร้อมขยายการค้าสินค้าเกษตรร่วมกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 20, 2016 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับนายบลาโร บอร์เกส มากกี (H.E. Mr. Blairo Borges Maggi) รมว.เกษตร ปศุสัตว์ และการผลิตอาหาร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเกษตร ตลอดทั้งเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน โดยบราซิลได้มีความประสงค์ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการวิจัยพัฒนาระหว่างประเทศไทย และสถาบัน EMBRAPA หรือองค์การวิจัยเกษตรของบราซิล เนื่องจากบราซิลมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตรชั้นสูง และการจัดการการผลิตเอทานอลจากอ้อย ซึ่งหากเกิดความร่วมมือก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนการพัฒนาวิจัยงานด้านการเกษตรอันเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ

พร้อมกันนี้ ทางฝ่ายไทยได้แจ้งความประสงค์ให้บราซิลสนับสนุนการนำเข้าข้าวและยางพาราของไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตข้าวหอมมะลิส่งออกที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล และยางพาราธรรมชาติที่มีคุณภาพ โดยไทยได้ส่งออกสินค้าดังกล่าวไปหลายประเทศทั่วโลก โดยขณะเดียวกันบราซิลก็ได้ขอความร่วมมือให้ไทยช่วยพิจารณานำเข้าเนื้อวัวและไก่ป่นจากบราซิลเช่นกัน

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศได้หารือเกี่ยวกับการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และการผลิตอาหารของบราซิล โดยร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว มีเนื้อหาครอบคลุมงานด้านการเกษตรในหลายมิติ ทั้งด้านพืช สัตว์ ประมง ดิน และน้ำ ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์จากความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีด้านการเกษตรทั้งแบบที่ใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีชั้นสูง

"บราซิลได้ส่งร่างโต้ตอบบันทึกความเข้าใจฯ ให้ฝ่ายไทยแล้ว ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณาร่างโต้ตอบดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ต่อไป" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

สำหรับด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยและบราซิลนั้น ในปี 2558 มีมูลค่าการค้ารวม 127,479 ล้านบาท มีการนำเข้า 66,917 ล้านบาท และการส่งออก 60,562 ล้านบาท ซึ่งในภาพรวมไทยทั้งเป็นฝ่ายได้เปรียบและเสียเปรียบดุลการค้าสลับกันกับบราซิล โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ปลาทูน่าปรุงแต่ง ปลาที่ปรุงแต่งชนิดบด พืชมีชีวิตอื่นๆ (รวมถึงราก) เช่น ต้นกล้วยไม้ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปลา (เช่น กระเพาะปลา เป็นต้น) กิ่งชำที่ไม่มีรากและกิ่งตอน และของปรุงแต่งอื่นๆ ชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ส่วนสินค้าที่นำเข้า ได้แก่ ถั่วเหลืองที่ไม่ใช้สำหรับทำพันธุ์ กากน้ำมัน (ออยล์ เค้ก) และกากแข็งอื่นๆ ที่ได้จากการสกัดน้ำมันถั่วเหลือง ข้าวสาลี และเมสลินอื่นๆ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ