(เพิ่มเติม) กยท. เปิดรับคู่สัญญาโครงการยางพาราประชารัฐ นำร่องให้ความรู้ใน 4 จ.ภาคใต้ หวังเพิ่มมูลค่าไม้ยาง-ขยายตลาดส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2016 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กยท. ได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการยางพาราประชารัฐ กับบริษัท สยามฟอร์เรสแมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางในการเพิ่มมูลค่าในการขายไม้ยาง และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางทั้งในและต่างประเทศ พร้อมรับซื้อไม้ยางพาราที่เหลือใช้จากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ เช่น กิ่ง แขนง ราก เศษขี้เลื่อย เป็นต้น เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแท่งเชื้อที่สะอาด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รายได้เพิ่มจากการส่งขายไม้ยางพารา และวัสดุไม้อื่นๆ ทั้งหมดได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ กยท.ได้ลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี จัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการสวนยางที่ดีอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) และ PEFC (Programme for the Endorsement of Forest Certification) เพื่อให้ผู้ปลูกยางมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสวนยางของตนเองให้ได้มาตรฐาน โดยนำร่องพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และ ชุมพร มีผู้นำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและพนักงาน กยท.เข้ารับการอบรมประมาณ 250 คน โดยตั้งเป้า 3 เดือน พื้นที่ปลูกสร้างสวนยางใน จ.สุราษฎร์ธานี ต้องได้การรับรองจาก FSC และ PEFC ให้ได้เกือบ 100% ของพื้นที่ปลูกยางทั้งหมดในจังหวัด

"4 จังหวัดมีพื้นที่ปลูกยางรวมกันประมาณ 2.2 ล้านไร่ โดยอยู่ในจ.สุราษฎร์ธานี ประมาณ 1.6 ล้านไร่ ระนอง 9.5 หมื่นไร่ ประจวบคีรีขันธ์ 5.7 หมื่นไร่ ชุมพร 3.47 แสนไร่ โดยเราจะให้เกษตรกรที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ FSC และ PEFC เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการในการปลูก การกรีด การตัด เมื่อได้มาตรฐาน เจ้าหน้าที่ กยท.เองก็จะเข้าร่วมฝึกอบรมเพื่อที่จะเป็นผู้รับรองไม้ตามคุณภาพมาตรฐาน FSC"

อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของไม้ยางพารา และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราของไทย รวมถึงขยายตลาดการส่งออกให้แก่กลุ่มสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร และเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ที่ผ่านมาเกษตรกรเมื่อโค่นสวนยางพารา 1 ไร่ จะขายไม้ยางพาราได้ไร่ละ 70,000 – 80,000 บาท แต่ปัจจุบันขายได้เพียงไร่ละ 20,000 – 30,000 บาท เท่านั้น เนื่องจากตลาดต่างประเทศที่รับซื้อไม้ยางพารามีมาตรฐานการรับซื้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้ไทยส่งขายไม้ยางได้เพียงบางประเทศเท่านั้น ซึ่งการรับรองการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน FSC และ PEFC จะเป็นการขยายตลาดการส่งออกไม้ยางพาราไปยังประเทศที่ต้องการการรับรองคุณภาพในระดับสากล เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อเมริกา และประเทศในแถบยุโรป

"สาเหตุที่เกษตรกรขายได้แค่ 20,000 บาทต่อไร่ เพราะถูกมองว่าเป็นเป็นไม้เถื่อนก็ถูกกดราคา แต่ต่อไปไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC จะเป็นเครื่องหมายยืนยันว่าไม้ถูกต้องเป็นไม้ปลูกไม่ใช่ไม้เถื่อนเกษตรกรจะมีรายได้จากการขายไม้ยางพารานอกเหนือจากรายได้จากการส่งขายน้ำยาง เราคาดว่ารายได้ของเกษตรกรน่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณไร่ละ 28,000 บาท นอกจากนี้ กยท.ยังคาดว่าจะสามารถขยายตลาดส่งออกไม้ยางไปยังตลาดใหม่ๆได้เพิ่มขึ้น ที่มองไว้ว่าจะเป็นตลาดใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้คือประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางจากอินเดียก็ไปปากีสถาน บังกลาเทศ อิหร่านฯลฯ"

สิ่งสำคัญ กยท. จะเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ตั้งแต่การปลูก การกรีด และการโค่นยางพารา โดยให้ทุกกระบวนการอยู่ในขั้นตอนตามมาตรฐาน FSC และ PEFC นอกจากนี้ กยท.จะเร่งจัดอบรมพนักงานของ กยท. หลักสูตร Train the Trainer เพื่อให้พนักงาน กยท.ทั่วประเทศที่ดูแลและส่งเสริมสวนยางสามารถตรวจรับรองในทุกขั้นตอนของการจัดการสวนยางในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้สู่เกษตรกรชาวสวนยางแล้ว ตัวแทนภาคเอกชนอื่น ๆ ที่ดำเนินธุรกิจการแปรรูป หรือการนำไม้ยางพาราไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น การอบรมโครงการดังกล่าวใน จ.สุราษฎร์ฯ เป็นการนำร่องที่แรก และพร้อมจะขยายไปในทุกพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ

สำหรับการระบายสต็อกยาง 3.1 แสนตัน ที่มาจากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวนประมาณ 3.1 แสนตันนั้น กยท.เน้นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะนำยางในสต็อกดังกล่าวมาใช้ในโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐก่อน จากนั้น จะนำยางไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และนำมาใช้ภายในประเทศให้ได้มากที่สุด โดยในส่วนที่เหลืออาจจะต้องระบายขายเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและต้องคำนึงถึงคุณภาพยางควบคู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม มาตรการในการขายยางในสต็อกส่วนที่เหลือจากวัตถุประสงค์ข้างต้น ทาง กยท. ยืนยันจะไม่ขายยางแบบล็อตอย่างแน่นอน โดยจะดำเนินการแบ่งขายเป็นล็อตเล็ก ๆ และค่อย ๆ ระบายออกไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคายางพาราในตลาด และที่สำคัญการขายจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวสวนยาง

นายธีธัช กล่าวต่อว่า ผลสืบเนื่องจากการที่นักธุรกิจผู้ซื้อ 9 รายเดินทางมาเยือนประเทศไทยและพูดคุยกับสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการทั้งในภาคใต้ที่สงขลาและภาคอีสานที่ จ.บึงกาฬเมื่อเร็วๆนี้ ได้รับหนังสือแสดงเจตน์จำนงค์ในการใช้ยางจากประเทศไทย โดยเบื้องต้นมีความต้องการซื้อทยอยเข้ามาแล้ว โดยบริษัทเล็กๆ ต้องการซื้อประมาณเดือนละหลักพัน ส่วนบริษัทใหญ่ๆ ความต้องการซื้ออยู่ที่หลักหมื่นตันต่อเดือน ซึ่งได้มีการส่งตัวอย่างสินค้าส่งไปเข้าห้องแล็บ

"คาดว่าจะใช้เวลาตรงนี้ประมาณ 1-2 เดือน และคาดว่าสัปดาห์หน้าจะเริ่มมีการสั่งซื้อเข้ามาแล้ว ก็จะทยอยให้เกษตรกรที่มีความพร้อมจัดส่งยางที่มีมาตรฐาน FSC ให้ กยท.เลย"

ส่วนที่มีข่าวลือว่า กยท.จะขายยางออกมาแบบยกล๊อตนั้น ขอปฏิเสธข่าวลือดังกล่าวโดยยืนยันว่า กยท.เน้นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลโดยจะนำยางในสต็อกมาใช้ในโครงการส่งเสริมการใช้งานของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กยท.กำลังจะเสนอ ครม.ในการนำยางบางส่วนไปใช้ทำถนนดินยางพารา หรือ ตอนนี้ได้รับมาตรฐาน มอก.ในเรื่องแผ่นปูสนามฟุตซอลแล้ว ซึ่งเดิมโครงการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความต้องการใช้ยางกว่า 50,000 ตันในปี 60 ก็สามารถใช้ยางจากสต็อกนี้ได้ แต่ส่วนที่เหลืออาจจะต้องมีการระบายเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและบริหารคุณภาพยางที่เสื่อมลงทุกวัน

"แต่อย่างไรก็ตาม ในการระบายจะเป็นการขายทีละเล็กๆ จะไม่มีการเทขายจนทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดแน่นอน"

สำหรับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเรื่องการใช้กรดซัลฟิวริกในการผลิตยางนั้น กยท.ได้มีการกำหนดให้มีการใช้กรดฟอร์มิกแทน ไม่ใช่เพียงแค่การรณรงค์ แต่ปัญหาคือราคาของกรดฟอร์มิกแพงกว่ากรดซัลฟิวริกประมาณเท่าตัว การใช้งานก็ลำบากกว่าเพราะกรดฟอร์มิกต้องซื้อเป็นแกลลอนแล้วมาผสมเอง ก็จะพยามยามปลดล็อก 2 ประเด็นนี้ โดย กยท.จะจัดหากรดฟอร์มิกที่มีราคาถูกลง และมีส่วนผสมถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อทดแทนส่วนผสมที่ทำให้ราคาแพง

"ตอนนี้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการที่รับซื้อยางก้อนถ้วยว่า ถ้าอยากให้ใช้ฟอร์มิกก็ต้องจ่ายค่าพรีเมี่ยมด้วย หรือขอให้ซื้อในราคาที่แพงขึ้น เราก็จะรวบรวมว่ามีกี่โรงงานที่ร่วมมือและแจ้งไปที่เกษตรกรที่พร้อมจะจ่ายเพิ่มขึ้นอีกแต่ก็ขายเพิ่มขึ้นได้ด้วย เราจะพยายามดันตรงนี้ให้สุดซอยเพื่อให้ได้ฟอร์มิกที่ราคาถูกลงและเกษตรกรได้ขายสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น" นายธีธัช กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ