พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 34 (34th ASEAN Ministers on Energy Meetings : 34th AMEM) โดยมีรัฐมนตรีด้านพลังงานจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม ภายใต้หัวข้อ Towards Greener Community with Cleaner Energy โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนสู่ภูมิภาคพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ กรุงเนปยีดอ ประเทศเมียนมา
พลเอกอนันตพร เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 34 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการประชุมภายใต้หัวข้อ Towards Greener Community with Cleaner Energy โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน สู่ภูมิภาคพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในครั้งนี้ได้มีแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย แถลงการณ์ของรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน 10 ประเทศ ครั้งที่ 34 ,แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 13 ,แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานเอเชียตะวันออกครั้งที่ 10 และแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานและทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 6
ทั้งนี้ ในส่วนของถ้อยแถลงของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน 10 ประเทศ มีสาระสำคัญ คือ การมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานทดแทน และเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงานของอาเซียน ตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation 2016-2025 : APAEC) ที่เน้นเรื่องการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน การเชื่อมโยงโครงข่าย รวมถึงการร่วมกันเรื่องการพัฒนาพลังงานสะอาดในภูมิภาค การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ตลอดจนการร่วมมือกันในการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานและตลาดพลังงานเพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันทรัพยากรทดแทนและทรัพยากรภายในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและด้านเทคนิค เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในระบบพลังงาน เกิดการแบ่งปันได้จริงอย่างเต็มที่
โดยในด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียน คือ การตั้งเป้าหมายในการลดความเข้มของการใช้พลังงานในภูมิภาคลง 20% ภายในปีพ.ศ. 2563 และ 30% ในปีพ.ศ. 2573 ส่วนด้านพลังงานทดแทน ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียนคือการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 23% ของพลังงานผสมผสานอาเซียนในปีพ.ศ. 2568 สำหรับด้านโครงสร้างพื้นฐานมีการขับเคลื่อนร่วมกันในการเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซแบบทวิภาคีจำนวน 6 ประเทศ รวมความยาว 3,673 กิโลเมตร และการดำเนินการสถานีเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติเหลวให้กลับเป็นก๊าซจำนวน 6 สถานี กำลังผลิต 22.5 เมตริกตันต่อปี นอกเหนือจากนี้ยังมีการขยายการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid : APG) กว่า 1,700 เมกะวัตต์ รวม 8 โครงการ
รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรจากประเทศคู่เจรจา ในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทดแทน นิวเคลียร์ พลังงานสะอาด เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และการสนับสนุนข้อวิเคราะห์แนวโน้มพลังงานทดแทนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Renewable Energy Outlook)
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจะได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในโครงการ LTM on Power Integration Project ในการศึกษาการซื้อขายไฟฟ้าข้ามแดนบนพื้นฐานความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียนให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าร่วมกันระหว่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และมาเลเซีย โดยจะนำร่อง ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ปี 2016-2025 ในระยะที่ 1 ระหว่างปี 2016-2020 รวมถึงยังจะมีโอกาสร่วมหารือแบบทวิภาคี ในประเด็นด้านความร่วมมือด้านพลังงาน กับประเทศและหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กัมพูชา จีน สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก(Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA) และทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานร่วมกัน สำหรับการประชุมครั้งต่อไป ที่ประชุมได้ตกลงให้มีการจัดการประชุม AMEM ครั้งที่ 35 ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2560 ที่ประเทศฟิลิปปินส์