นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงในปัจจุบัน แม้จะส่งผลบวกต่อภาวะค่าครองชีพของประชาชนก็ตาม แต่ในอีกด้านหนึ่งจะเห็นได้ว่าการบริโภคพลังงานในประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานนอกเหนือจากจะต้องจัดหาพลังงานให้เพียงพอแล้ว ยังมีภารกิจการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้พลังงานควบคู่ไปด้วย
ดังนั้น สนพ. จึงทบทวนนำโครงการ “รวมพลังหาร 2" ที่เคยประสบความสำเร็จในการสร้างจิตสำนึกกลับมารณรงค์อีกครั้ง หลังจากที่ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโครงการเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยครั้งนี้จะเพิ่มดีกรีจาก “คิดก่อนใช้" ที่สร้างความตระหนักรู้และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้เข้มข้นขึ้นอีกขั้น ด้วยการยกระดับแนวคิดสู่แนวทางการลงมือทำได้จริง
"รวมพลังหาร 2 ประหยัดชัวร์" โดยทุกคนสามารถเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงในการประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นการเดินตามทิศทางของแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ย้ำเตือนการคิดก่อนใช้พลังงานทุกครั้งจนเป็นนิสัย พร้อมกับแนะวิธีใช้พลังงานอย่างประหยัดด้วยวิธีปฏิบัติได้จริงในชีวิต
โดยในปี 59 แคมเปญใหม่เริ่มด้วยภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์เริ่มออกอากาศวันแรก 21 กันยายน ในชื่อชุด “ชีวิตหาร 2 ลดครึ่ง ใช้ครึ่ง ประหยัดชัวร์" มีแนวคิดเชิญชวนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่แนวทางที่ลงมือทำได้จริงในชีวิตประจำวัน และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมแบบที่เป็น “ชีวิตหาร 2" ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องยุคสังคมดิจิทัล การกลับมาปลุกกระแสการประหยัดพลังงานครั้งนี้ จึงเน้นการสื่อสารแบบครบวงจร โดยนอกจากจะมีสื่อเทรดดิชั่นแนลในรูปแบบภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์แล้ว ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งการสื่อสารรูปแบบใหม่ในสังคมออนไลน์ ที่ สนพ. ได้วางช่องทางการสื่อสารไว้แบบครบทุกมิติ ทั้ง Facebook Instagram Website Webboard Banner รวมทั้งเตรียมสร้าง Application รวมพลังหาร 2 ขึ้นมารณรงค์ให้เกิดการใช้ชีวิตแบบหาร 2 เรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ผ่านช่องทางนี้ด้วย
นายทวารัฐ กล่าวว่า สำหรับตัวเลขการใช้พลังงานในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.59) การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับครึ่งปีที่แล้ว โดยมีปริมาณการใช้ที่ 1.49 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งไทยยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบในสัดส่วนถึง 83% ของการจัดหาน้ำมันในปริมาณรวม 9.9 แสนบาร์เรล/วัน โดยผลิตได้ในประเทศเพียง 17% เท่านั้น
ส่วนการใช้ไฟฟ้า ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ใช้รวม 91,546 กิกะวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.31% เป็นการเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขา ยกเว้นภาคเกษตรกรรมที่ใช้ไฟฟ้าลดลงมากจากปัญหาภัยแล้งและการใช้ไฟฟ้าสูบน้ำเพื่อการเกษตรลดลงเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งภาคอุตสาหกรรม เป็นภาคที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าสูงสุด คือ 41.7% ของการใช้ทั้งหมด เพิ่มขึ้น 3.1% จากอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยที่ภาคครัวเรือนมีการใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับสอง 24.5% หรืออยู่ที่ประมาณ 22,447 กิกะวัตต์-ชั่วโมง แต่มีอัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 10.6% เมื่อเทียบกับครึ่งปีก่อนสูงเป็นอันดับต้น