นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ทั้งปีนี้ประเมินว่าไทยจะส่งออกได้ 9.4-9.5 ล้านตัน โดยตั้งแต่ 1 ม.ค.-6 ก.ย.59 ไทยส่งออกได้ 6.4 ล้านตัน รองจากอินเดียที่ส่งออกได้ 6.9 ล้านตัน และเวียดนามที่ 3.2 ล้านตัน ปากีสถาน 2.5 ล้านตัน และสหรัฐฯ 2.3 ล้านตัน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะสามารถแซงอินเดียกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกได้หรือไม่
นายชูเกียรติ กล่าวถึงแนวทางการเพิ่มรายได้ให้ชาวนา ตามที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ จะมีการหารือกับผู้ประกอบการข้าวทุกกลุ่ม ทั้งผู้ส่งออก โรงสี และเกษตรกร โดยอาจออกมาตรการดูแลราคาข้าวเพิ่มเติม เพราะรัฐบาลเป็นห่วงราคาอาจตกต่ำในช่วงที่ผลผลิตออกมากตั้งแต่เดือนพ.ย. ที่มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวเปลือกปี 59/60 จะออกมามากถึง 30-31 ล้านตันข้าวเปลือก เกินกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดปริมาณเพาะปลูกไม่เกิน 27.7 ล้านตันข้าวเปลือก เพราะน้ำฝนดีขึ้น ทำให้ทั่วโลกผลผลิตมากขึ้นว่า รัฐบาลควรจะจ่ายเงินตรงให้กับชาวนาตันละ 2,000 บาท เพื่อเพิ่มอำนาจซื้อ โดยที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับกลไกตลาดข้าว โดยรัฐอาจช่วยเหลือชาวนาที่มีพื้นที่ปลูกข้าวไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านครัวเรือน และรัฐบาลอาจต้องใช้งบประมาณราว 30,000-40,000 ล้านบาท
ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การดึงราคาข้าวในประเทศให้สูงขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือ การเร่งระบายข้าวออกจากสต๊อกรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพราะเป็นแรงกดดันให้ข้าวราคาข้าวไทยลดลงมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ จะออกมากตั้งแต่เดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ เพราะทำให้ตลาดไม่ซื้อข้าวใหม่ แต่จะรอการระบายข้าวราคาถูกของรัฐบาล แม้การเร่งระบายจะทำให้ราคาข้าวไทยลดลง แต่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ หากยิ่งเก็บไว้นาน ราคาจะยิ่งลดลงมากกว่านี้
นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือ การจ่ายเงินโดยตรงให้กับเกษตรกร แต่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และนำเงินไปใช้จ่ายหมุนเวียนให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ส่วนถ้ารัฐจะตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกร โดยกำหนดปริมาณเป้าหมายบางส่วน คงเป็นไปได้ยาก รัฐบาลนี้ไม่ทำอยู่แล้ว เพราะจะเพิ่มภาระในการจัดเก็บของรัฐบาล เหมือนการรับจำนำข้าว