ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ผลประชุม FED-BOJ ให้น้ำหนักการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตอกย้ำภาวะดอกเบี้ยต่ำไปถึงปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 22, 2016 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สัญญาณล่าสุดจากผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้ตลาดได้ข้อสรุปว่า ภาวะดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกจะยังคงอยู่ต่อไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง โดยแม้เฟดจะจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรักษาสมดุลของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ก็จะใช้ความระมัดระวัง และประเมินสัญญาณเศรษฐกิจเป็นระยะ

ขณะที่ BOJ ก็จะเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการทางการเงินภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงิน QQE with Yield Curve Control ที่เพิ่งจะประกาศใหม่ ซึ่งตลาดก็คงจะให้เวลา และรอประเมินผลสัมฤทธิ์ของนโยบายนี้ต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในช่วงประมาณ 6 เดือนหลังจากนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อมองไปข้างหน้าความท้าทายของ BOJ จะอยู่ที่โจทย์เศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการผ่อนคลายทางการเงินตามลำพัง ขณะที่ความท้าทายของเฟด จะอยู่ที่การเลือกจังหวะคุมเข้มนโยบายการเงินที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (และเศรษฐกิจโลก)

"ต้องยอมรับว่า ปัญหาความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจญี่ปุ่น คงเป็นโจทย์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ขณะที่ความยากของเรื่องนี้จะอยู่ที่แรงกระตุ้นจากนโยบายการเงิน-การคลังตามลำพังนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับไปมามีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะต้องมีการเร่งกระบวนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในภาคส่วนต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งก็ต้องใช้เวลาเช่นเดียวกัน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ดังนั้นจึงเป็นนัยว่า BOJ อาจจะเผชิญกับแรงกดดันให้ต้องเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอีกเป็นระยะๆ โดยเฉพาะจากเครื่องมือดอกเบี้ย หากตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของญี่ปุ่น ยังคงไม่สามารถปรับตัวดีขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า หรือข้อมูลงบดุล (Balance Sheet) ของ BOJ ที่อาจเพิ่มขึ้นได้อย่างช้าๆ จากข้อจำกัดของปริมาณพันธบัตรที่เหลืออยู่ในตลาดไม่มาก หลังจากที่ BOJ ได้มีการซื้ออย่างต่อเนื่อง จนทำให้ยอดคงค้างการถือครองพันธบัตรของ BOJ มีสูงกว่า 1 ใน 3 ของยอดคงค้างทั้งหมด

ส่วนของแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เฟดอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบสุดท้ายของปี 2559 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ขยับขึ้นไปอยู่ที่กรอบ 0.50-0.75% ภายในสิ้นปีนี้ จากระดับที่ 0.25-0.50% ในปัจจุบัน และสำหรับปีหน้า มองว่าเฟดก็ยังคงมีภารกิจที่จะต้องปรับจุดยืนนโยบายการเงินให้เข้าสู่ระดับที่เป็นปกติ (ไม่ผ่อนคลายจนเกินไป) อย่างต่อเนื่อง

"การเลือกจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปตามแผนภาพ dot plot ใหม่ของเฟด หรือไม่นั้น คงขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ภายใต้การบริหารของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี) และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคงต้องยอมรับว่ายังคงมีกรอบการฟื้นตัวที่ค่อนข้างจำกัด และมีความเปราะบางแฝงอยู่ในหลายๆ ส่วน" เอกสารเผยแพร่ระบุ

สำหรับผลต่อไทยนั้น แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปีกว่าจะกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจในระยะยาว (ขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ ยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจสามารถยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ไปตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ และอาจจะต่อเนื่องในปีข้างหน้า เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ประเด็นที่ยังต้องจับตาใกล้ชิดคือ สถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่เฟดกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบปลายปีนี้ และเปิดเผย dot plot ชุดใหม่ ซึ่งย่อมจะมีผลต่อการประเมินจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และแนวโน้มการลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกในปีถัดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ