กรมโรงงานฯ ตั้งเป้าปี 60 ยกระดับ 400 รง.ในเขต 3 ลุ่มน้ำสู่ "Green Industry"

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 22, 2016 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 กรมโรงงานฯ มุ่งเน้น การส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้สถานประกอบการเข้าสู่การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว หรือโครงการ Green Industry อย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางในการดำเนินงาน 6 เรื่อง ได้แก่ 1. การให้คำแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการเพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง และ ลุ่มน้ำตะวันออก ที่อยู่ในพื้นที่หลักในเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญให้ คำปรึกษาและแนะนำแก่สถานประกอบการที่ต้องการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงขึ้น

2. การส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชน ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสีเขียวและการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3.การศึกษาศักยภาพในการลดปริมาณน้ำในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดปริมาณน้ำใช้ในโรงงานและสามารถหมุนเวียนน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ได้ 4.การพัฒนาผลิตภาพสำหรับอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์และบริการ การพัฒนาด้านมาตรฐาน สามารถแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น 5.การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดสำหรับอุตสาหกรรมระดับรายสาขา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การป้องกันมลพิษของโรงงานควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโลยีการผลิตที่สะอาดด้วย (Cleaner Technology / CT) และ 6.การตรวจประเมินสถานประกอบการที่ขอเทียบระดับหรือเลื่อนระดับสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อยกระดับการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ การยกระดับสถานประกอบการตามลุ่มน้ำต่างๆ ยังเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะการได้การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงจะต้องมีการตรวจประเมิน การตรวจหาแหล่งกำเนิดหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางด้านน้ำ อากาศ กากของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต จึงทำให้สถานประกอบการมีความเข้มงวดในการรักษาสิ่งแวดล้อมจะไม่ละเลยในการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ถือว่าการได้การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทำให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าภายในปี2560ให้ภาคอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ตามลุ่มน้ำได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงขึ้น จำนวน 400 โรงงาน ด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท

สำหรับการให้คำแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการเพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในพื้นที่ลุ่มน้ำหลักในเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มุ่งเน้นไปที่ 3 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ 1.ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2. ลุ่มน้ำท่าจีน แม่กลอง และ 3.ลุ่มน้ำตะวันออก เพื่อให้สถานประกอบการตามลุ่มน้ำต่างๆ ได้มีความรู้เชิงลึกในการบริหารจัดการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ทรัพยากรทั้งน้ำและพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งพัฒนาความสามารถและเสริมสร้างจิตสำนึกให้พนักงานและผู้ประกอบการมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ตามกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ลดปัญหาการร้องเรียนที่เกิดขึ้นจากชุนชนในบริเวณรอบ โดยจะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและควบคู่การอนุรักษ์ปกป้องรักษาระบบนิเวศไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมตามลุ่มน้ำต่างๆ ยกระดับสถานประกอบการให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงขึ้น โดยในปัจจุบันมีโรงงานที่ได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับ1-5 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 4,154 โรง ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง จำนวน 2,517 โรง และลุ่มน้ำตะวันออก จำนวน 3,336 โรง โดยมีเป้าหมายให้สถานประกอบการไม่น้อยกว่า 100 ราย ของแต่ละลุ่มน้ำ มีการยกระดับเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงขึ้นตั้งแต่อุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่2 หรือ GI2 ขึ้นไป

ด้านน.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือโครงการ Green Industry ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเชิงรุกจึงมีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว โดยเน้นการสร้างความตระหนักให้กับบุคลากรในทุกระดับได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวมีการกำหนดมาตรฐานไว้ 5 ระดับด้วยกัน คือ ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือ องค์กรต้องกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ

ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว และจัดทำแผนงานพร้อมนำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) วางแผนงาน นำไปปฏิบัติ และติดตามประเมินผล การทบทวนและรักษาระบบ เพื่อให้ประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) องค์กรต้องมีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามเกณฑ์กำหนดระดับที่ 3 ทุกข้อ สร้างวัฒนธรรมด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร รายงานผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะ ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) เป็นไปตามข้อกำหนดในระดับที่ 4 สานสัมพันธ์ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน จัดทำรายงานและเผยแพร่สานสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม

โดยในปี 2559 มีสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว รวมทั้งสิ้น 28,049 ราย แบ่งเป็น ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) 18,182 ราย ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) 5,386 ราย ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) 4,305 ราย ระดับที่ 4วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) 146 ราย และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) 30 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ