SCB EIC แนะภาครัฐ-เอกชนส่งเสริม R&D อุปกรณ์การแพทย์ เพื่อยกระดับอุตฯพลาสติกไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 22, 2016 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า นักวิเคราะห์ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับแนวโน้มการใช้พลาสติกในอุปกรณ์การแพทย์ที่สูงขึ้น โดยมองว่าการใช้พลาสติกในธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตราว 7% ส่วนวัสดุอื่นๆ เช่น โลหะ เซรามิค และแก้ว มีแนวโน้มเติบโตเพียง 1-2% เท่านั้น

โดยปัจจุบันพลาสติกมีข้อได้เปรียบวัสดุหลักอื่นๆ ดังนี้ คือ 1) ต้นทุนวัตถุดิบและการผลิตที่ต่ำกว่า เนื่องจากราคาวัสดุพลาสติกที่ต่ำ และสามารถขึ้นรูปได้ง่ายกว่าโลหะ เซรามิคและแก้ว 2) มีประสิทธิภาพที่สูงกว่า เพราะสามารถปรับรูปร่างให้ตรงกับความต้องการและมีน้ำหนักเบากว่าโลหะและเซรามิค ขณะที่ก็มีคุณสมบัติคงทนและโปร่งใสเหมือนกับแก้ว และ 3) มีความปลอดภัยสูงกว่า เพราะทนต่อสารเคมีและกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยรังสีทำให้ไม่เกิดสารปนเปื้อนจากการกัดกร่อนเหมือนโลหะ และยังมีโอกาสที่จะแตกหักน้อยกว่าเซรามิคหรือแก้ว ยิ่งไปกว่านั้น พลาสติกยังสามารถนำไปผสมกับวัสดุอื่นๆ เช่น ยาง หรือ สารเคมีชีวภาพต่างๆ กลายเป็นวัสดุเชิงประกอบ (composite) ทำให้ได้วัสดุที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีคุณสมบัติตรงกับความต้องการได้อีกด้วย

ขณะที่การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ของประเทศชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก ยิ่งกระตุ้นให้ความต้องการใช้อุปกรณ์การแพทย์สูงขึ้น ส่งผลให้การใช้พลาสติกมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐฯ ยุโรป จีนและญี่ปุ่น เป็นต้น คาดว่าภายในปี 73 สัดส่วนของประชากรช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไปทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12% จาก 8% ในปัจจุบัน จากปัจจัยนี้เองมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์เติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ จะยิ่งสนับสนุนให้การใช้พลาสติกเพื่อผลิตอุปกรณ์การแพทย์เหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตสูงตามไปด้วย

นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของประเทศกำลังพัฒนา เช่น เมียนมา เวียดนาม และลาว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่าไม่สูงมากนักเติบโตด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งศึกษาแผนการลงทุนและวางเป้าหมายขยายช่องทางการตลาดให้เหมาะสมกับความต้องการผลิตภัณฑ์ในแต่ละประเทศซึ่งจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายธุรกิจรองรับกับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต

ในปัจจุบัน แม้ว่าสัดส่วนปริมาณการใช้พลาสติกในอุปกรณ์การแพทย์จะยังมีน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ อย่างอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ รถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พลาสติกได้สูงกว่าหลายเท่า โดยมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์การแพทย์จะสูงกว่ามูลค่าการส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติก และเม็ดพลาสติกโดยเฉลี่ยราว 4 และ 8 เท่า ตามลำดับ โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่สูงจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้และกำไรของผู้ประกอบการ และยังช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาอุปกรณ์การแพทย์ไม่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันมากนัก ซึ่งต่างจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเม็ดพลาสติก นอกจากนี้ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกยังสอดคล้องกับแผนการยกระดับอุตสาหกรรมของภาครัฐที่ต้องการเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งและช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของการลงทุนและยกระดับธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ในไทยคือการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการได้รับการรองรับด้านมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงปัจจุบันการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ของไทยยังเป็นการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีระดับต่ำถึงกลางเป็นหลัก ซึ่งมีมูลค่าไม่สูงมากนัก เช่น ถุงมือแพทย์ เข็มฉีดยา และสายน้ำเกลือ เป็นต้น ขณะที่อุปกรณ์การแพทย์ระดับสูง เช่น อวัยวะเทียม เครื่องเอ็กซเรย์ และเครื่องสแกน ที่ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตและมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง ไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเยอรมนี เป็นต้น โดยในปี 58 มูลค่าการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ของไทยสูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ราว 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี พร้อมทั้งร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ของไทย ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้ พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหม่ของอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ได้ในอนาคต

อีกทั้ง ภาครัฐและภาคเอกชนควรส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีรวมถึงประสิทธิภาพและมาตรฐานของอุปกรณ์การแพทย์ที่ผลิตจากพลาสติกอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ SCB EIC มองว่าธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยได้อย่างมาก หากภาครัฐและภาคเอกชนช่วยผลักดันและส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องขณะที่ภาคเอกชนควรเร่งหาพันธมิตรระดับโลกที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี พร้อมทั้งร่วมวิจัยและพัฒนาศึกษามาตรฐานต่างๆก็จะช่วยยกระดับทั้งอุตสาหกรรมพลาสติกและอุปกรณ์การแพทย์ของไทยให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรองรับกับความต้องการของผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ