นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการโลจิสติกส์กว่า 20,000 ราย กว่าร้อยละ 70 เป็นผู้ให้บริการขนส่งทางบกและระบบท่อลำเลียง ร้อยละ 13 เป็นตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า ร้อยละ 5 เป็นผู้ให้บริการ การบริหารจัดการเกี่ยวกับสินค้า ส่วนผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยที่ให้บริการด้านอื่นๆ ได้แก่ ผู้ให้บริการขนถ่ายสินค้า คลังสินค้า การขนส่งทางน้ำ และการขนส่งทางอากาศ
ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์โลจิสติกส์การค้าของไทยปรากฏว่า ในปี 2557 ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1,800 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 14.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ลดลงจากร้อยละ 14.2 ต่อ GDP ในปี 2556 โดยโครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ มีต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง และต้นทุนการบริหารจัดการตามลำดับ
หากเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันโลจิสติกส์กับในประเทศอาเซียน ไทยจะอยู่เป็นอันดับ ที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ขณะที่ต้นทุนโลจิสติกส์ไทยกับประเทศใกล้เคียง อาทิ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ปรากฏว่า ต้นทุนด้านโลจิสติกส์อยู่ที่ร้อยละ 18 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ที่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคและดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติ นอกจากภาคเอกชนจะบริหารจัดการต้นทุนกระบวนการภายในให้ถูกลง และสามารถส่งสินค้าและบริการถึงมือผู้บริโภคได้เร็วขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยในการปรับลดต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าและบริการไทย ตลอดจนเพื่อนำไปสู่ การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ไทย จึงได้ดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ทางการค้า ส่งเสริม Best Practice และยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์สู่สากล ตลอดจนต่อยอดเทคโนโลยีที่สำคัญ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ อันจะนำไปสู่การแข่งขันในเวทีการค้าระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ ในระยะยาวหนึ่งในกลยุทธ์หลักคือ การจัดงาน TILOG-LOGISTIX ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี งานดังกล่าวเป็นงานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม และโซลูชั่น พร้อมธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ที่ครบครัน โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 23 กันยายน 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าในงาน 400 แบรนด์ จาก 25 ประเทศ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 10,000 ราย จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเกิดมูลค่าการซื้อขายใน 1 ปีถึง 435 ล้านบาท
อีกกลยุทธ์สำคัญที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีคือ การจัดสัมมนาระดับนานาชาติ หรือ Symposium ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 22 กันยายน 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ภายใต้หัวข้อ Symposium 2016: Logistics 4.0 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโลจิสติกส์ 4.0 ให้แก่ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์และผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยการสัมมนานี้ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ฟังมุมมองความคิดและเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากวิทยากรด้านโลจิสติกส์การค้าที่มาร่วมให้ข้อมูลเชิงลึกจากนานาประเทศ
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและส่งเสริมให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนามาตรฐานในการบริหารองค์กร รวมถึงการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดโครงการประกวดรางวัล Excellent Logistics Management หรือ ELMA ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 รางวัล ELMA นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ช่วยตอกย้ำความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล โดยบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ การพิจารณาและได้รับรางวัล ELMA 2016 ได้แก่ บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด
"ธุรกิจโลจิสติกส์ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาสู่ยุคโลจิสติกส์ 4.0 กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ซึ่งได้ปรับแนวคิดการดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการทั้งอุปสงค์และอุปทานอย่างเป็นระบบ แม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ถือเป็นจุดสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของโลกการค้าในปัจจุบัน" รมว.พาณิชย์ ระบุ