พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยผลหารือร่วมกับนายกายเลียนโป เยเซ ดอร์จี รมว.เกษตรและป่าไม้ภูฏานว่า ได้เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรของทั้งสองประเทศ ทั้งการดำเนินงานภายใต้เอ็มโอยูและความร่วมมือที่ได้มีความเห็นชอบร่วมกันให้ใกล้ชิดมากขึ้นใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ความร่วมมือด้านวิชาการเกษตร โดยเฉพาะด้านพืช ซึ่งเป็นสาขาการเกษตรที่ไทยและภูฏานได้มีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งพืชไร่ พืชสวน ผักผลไม้ ระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ เกษตรอินทรีย์ รวมถึงโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ ในพระราชดำริของพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่โครงการได้ประสบผลสำเร็จด้วยดีจากความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย และยินดีที่โครงการดังกล่าวจะได้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านไม้ดอกไม้ประดับของเมืองทิมพู และพื้นที่อื่นๆ ของภูฏาน
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเป็นผู้นำและผู้ให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรแล้ว ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการวิจัยร่วมในพืชเศรษฐกิจหายากที่เป็นพืชท้องถิ่นของภูฏาน ได้แก่ พืชสมุนไพร และเห็ดที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจและมีสรรพคุณเป็นยา เช่น เห็ดถั่งเฉ้า เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาด้านองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศด้วย
2.ความร่วมมือด้านปศุสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและแบบแปลนก่อสร้าง รวมทั้งเทคโนโลยีการจัดการมาตรฐานโรงงาน ในการก่อสร้างโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์แห่งแรกของภูฏาน ดังนั้น ในระยะต่อไปกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตด้านปศุสัตว์ให้กับฝ่ายภูฏาน พร้อมแลกเปลี่ยนและขยายพันธุ์ปศุสัตว์หลายชนิดของไทย เช่น ไก่งวง หมู และโค เพื่อการพัฒนาภาคการผลิตให้ก้าวหน้าต่อไป ทั้งนี้จากการพัฒนาพันธุ์ปศุสัตว์ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนกัน การให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค และทางวิชาการด้านการจัดการปศุสัตว์ รวมถึงอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีพื้นฐานด้านการแปรรูปปศุสัตว์ที่ภูฏานยังไม่สามารถผลิตได้เอง จะส่งผลทำให้ไทยมีโอกาสขยายตลาดการส่งออกพันธุ์สัตว์ และสินค้าแปรรูปด้านปศุสัตว์มายังภูฏาน ซึ่งนอกจากผู้บริโภคจะเป็นชาวภูฏานแล้ว ยังมีเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในภูฏานอีกด้วย
3.ความร่วมมือด้านชลประทาน และโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ต้นแบบทางการเกษตร ในพระราชดำริของพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก โดยน้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ และปรัชญาหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย มาเป็นต้นแบบการพัฒนาการเกษตรในภูฏาน ซึ่งศูนย์นี้กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมการเกษตร ของไทยได้ให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และแผนการดำเนินโครงการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นต้นแบบการทำการเกษตรให้แก่เกษตรกรชาวภูฏาน อันเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้านการส่งเสริมการทำเกษตรโดยใช้หลักเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่ภาคเกษตรกรรมของราชอาณาจักรภูฏาน เพื่อแสดงความเป็นผู้นำด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนในภูมิภาค กระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และเผยแพร่พระเกียรติคุณให้กว้างไกลยิ่งขึ้น
"หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทยและกระทรวงเกษตรและป่าไม้ภูฏานได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน เมื่อปี 2553 หน่วยงานที่รับผิดชอบของทั้งสองประเทศได้ดำเนินความร่วมมือภายใต้เอ็มโอยูอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือได้ครอบคลุมทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ชลประทาน การจัดการดินและน้ำ การสหกรณ์ รวมทั้งมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร และในปี 2560 กระทรวงเกษตรฯ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมฯ ซึ่งการประชุมร่วมดังกล่าวจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าในการดำเนินงานความร่วมมือด้านต่างๆ ที่มีความเห็นพ้องร่วมกัน และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะขยายฐานการค้าและการลงทุนสินค้าเกษตรระหว่างกัน แม้ว่าการนำเข้าสินค้าการเกษตรไทยมายังภูฏานจะยังไม่เป็นที่น่าสนใจ เนื่องจากมีต้นทุนด้านการขนส่งสูง แต่การดำเนินความร่วมมือด้านพืชและการแปรรูปผลผลิตด้านการเกษตรจะเป็นโอกาสให้ไทยได้ส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีชื่อเสียงของไทยให้แพร่หลายในหมู่ชาวภูฏาน และนักท่องเที่ยวในภูฏานได้ในอนาคต" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว