นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทย เป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ที่โรงแรมเซนติโด้ เกรซแลนด์ เขาหลัก รีสอร์ท แอนด์ สปา โดยที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการการศึกษาทบทวนยุทธศาสตร์ IMT-GT เพื่อวางแผนพัฒนาให้ทันความเปลี่ยนแปลงในโลกและภูมิภาคตามวิสัยทัศน์ระยะยาว (20 ปี) และการจัดทำแผนดำเนินงานระยะ 5 ปี แผนที่ 3 (ปี 60-64) เพื่อให้มีทิศทางการดำเนินงานในอนาคตภายหลังแผนระยะ 5 ปีในแผนที่ 2 เสร็จสิ้นลง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม การพัฒนาที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนโครงการที่มีผลกระทบสูงและให้ผลลัพธ์ที่เห็นผลได้ชัดเจน โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาเกื้อกูลกัน
โดยสาขาความร่วมมือที่จะให้ความสำคัญมากขึ้น ประกอบด้วย การเกษตรและแปรรูปเกษตร การท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล โดยมีสาขาความร่วมมือที่เป็นพื้นฐานสำคัญและจะมาส่งเสริมซึ่งกันและกัน ได้แก่ ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์ CIMT รับข้อสั่งการของรัฐมนตรีไปปรับปรุงรายงานและเสนอผ่านกระบวนการหารือ 3 ประเทศให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2560 และพร้อมนำเสนอในที่ประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 10 แผนงาน IMT-GT ในเดือนเมษายน 2560 ที่ฟิลิปปินส์
สำหรับโครงการที่เตรียมบรรจุในแผนระยะ 5 ปี ในแผนที่ 3 ที่สำคัญ เช่น การก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่โดยบูรณาการการก่อสร้างเชื่อมโยงกับด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัม กำหนดแล้วเสร็จปี 2562, การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส-เมืองตุมปัต รัฐกลันตัน และสะพานแห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำโกลกที่อำเภอสุไหงโกลก-เมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีสองประเทศมีกำหนดร่วมกระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ราวกลางปี 2560 กำหนดแล้วเสร็จราวปี 2562-2563
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังรับทราบผลการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 23 ในการรายงานผลสำเร็จการดำเนินงานโครงการแผนงาน IMT-GT ปีสุดท้ายของแผนดำเนินงานระยะห้าปี แผนที่ 2 (ปี 55-59) (Implementation Blueprint 2012-2016) ใน 6 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง (2) การค้าการลงทุน (3) การท่องเที่ยว (4) ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ (6) การเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ มีโครงการสำคัญของ 6 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ การพัฒนาด่านชายแดน เช่น ด่านสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้มาเป็นประธานเปิดอาคารด่านขาออกหลังใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ด่านบ้านประกอบ-ดูเรียนบุหรง จังหวัดสงขลา การก่อสร้างท่าเรือนาเกลือในจังหวัดตรังแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย-มาเลเซีย เชื่อมโยงสงขลากับรัฐเกดะห์และปะลิส และนราธิวาสกับรัฐกลันตัน เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าที่มีศักยภาพข้ามแดน ซึ่งมาเลเซียเสนอโครงการชูปิงแวลลีย์ (Chuping Valley) รัฐปะลิส เพื่อเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดาและโครงการเมืองยางพาราซึ่งบริหารโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โครงการให้บริการขนส่งโดยเรือเฟอร์รี่ขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างมะละกา-ดูไม (IMT-GT Melaka-Dumai Ro-Ro) ซึ่งโครงการเหล่านี้จะเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่เกษตรกรรมที่มีมูลค่าสูงและปลอดภัย เช่น แพะพันธุ์สุราษฎร์เร๊ด การจัดทำคู่มือเดินทางท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Route) การท่องเที่ยวตามรอยธรรมหลวงปู่ทวดในไทยและมาเลเซีย การแลกเปลี่ยนฝีกอบรมแรงงาน
อีกทั้ง รับทราบผลการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2559 ซึ่งมีเรื่องความก้าวหน้าและผลสำเร็จของการดำเนินโครงการสำคัญ ได้แก่ การขับเคลื่อนโครงการเมืองสีเขียว (Green city) ในพื้นที่เทศบาลนครสงขลาและหาดใหญ่ มะละกา บาตัมและเมดาน, การจัดประชุม IMT-GT Green Council ครั้งที่ 1 ที่รัฐมะละกา ซึ่งจังหวัดสงขลาจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม IMT-GT Green Council ครั้งที่ 2 ที่อำเภอหาดใหญ่ ในเดือนสิงหาคม 2560 ด้วย, โครงการอาคารประหยัดพลังงานที่มะละกาและสงขลา โดยจังหวัดสงขลามี 17 อาคาร, การก่อสร้างศูนย์เรือเฟอร์รี่ Roll on/Roll off (RoRo) มะละกา-ดูไม, ความร่วมมือยางพาราระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ Tradewind Plantation ของมาเลเซีย, เส้นทางท่องเที่ยวเมืองเก่า, การท่องเที่ยวเชิงฮาลาล, ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางเรือที่เมืองซาบัง อาเจห์
ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนแผนงานโดยยกระดับบทบาทของภาคเอกชน ได้แก่ สภาธุรกิจ IMT-GT โดยสนับสนุนสภาธุรกิจให้เป็นองค์กรที่เป็นที่ยอมรับและการรับข้อเสนอด้านการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและการประกอบธุรกิจในพื้นที่ IMT-GT เช่น การเร่งรัดพัฒนาด่านชายแดน การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและการเดินทางผ่านแดนทางบก การพัฒนาสายการผลิตข้ามแดนของยางพารา ความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในแนวเส้นทางอาเจห์-ปีนัง-ภูเก็ต-หาดใหญ่-สามจังหวัดชายแดน การจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ฮาลาล การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเมืองมรดกทางวัฒนธรรมระหว่างเมดาน-ปีนัง-มะละกา-สงขลา
นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยใน IMT-GT (IMT-GT UNINET) ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยเชกัวลา อาเจห์ อินโดนีเซีย เป็นประธาน โดยที่เน้นการเสริมสร้างบทบาทของมหาวิทยาลัยใน IMT-GT ในการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในด้านการวิจัยและพัฒนา การเสริมสร้างศักยภาพ และโครงการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีความสามารถ (Talent Mobility) เพื่อให้เกิดการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนใน IMT-GT โดยใช้วัฒนธรรมและการศึกษาเป็นสื่อกลาง
สำหรับการประชุมครั้งต่อไป อินโดนีเซียรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนงาน IMT-GT ณ จังหวัดบังกา-เบลิตุง ในช่วงปลายปี 2560