นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในเวทีเสวนา "ประชารัฐเพื่อสังคม" ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ว่า การดำเนินนโยบายประชารัฐตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเป็นไปได้ดีมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นไปในด้านเศรษฐกิจ ตนเองจึงได้หารือร่วมกับ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส อยากให้มีการเริ่มต้นนโยบายประชารัฐด้านสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งมีหลายเรื่องที่ภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมผลักดันไปได้ เช่น การผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข แต่หากให้เฉพาะหน่วยงานดูแลก็มีกำลังน้อย ขณะที่ภาคเอกชนมีกำลัง มีเครื่องมือ จึงอยากให้เข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้ โดยจะรับฟังข้อมูลจากภาคประชาสังคมที่จะช่วยเสนอประเด็นที่ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ขณะที่ภาครัฐจะร่วมสนับสนุน อาทิ ให้มีมาตรการทางภาษีสนับสนุนกรณีการจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นต้น
ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) กล่าวว่า ประชารัฐเป็นกระบวนการทำงานแบบสานพลังระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาประเทศและชุมชนท้องถิ่นในช่วง 1 ปี ของการขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล แสดงให้เห็นแล้วว่าภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมไทย มีศักยภาพและความพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือและร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ดังนั้นประชารัฐเพื่อสังคมจึงเป็นการขยายบทบาทความร่วมมือการพัฒนาจากประเด็นเศรษฐกิจสู่ประเด็นการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลกลุ่มประชากรเป้าหมายที่เปราะบางซึ่งรัฐเข้าถึงยาก และประเด็นทางสังคมที่สำคัญซึ่งรัฐมีข้อจำกัดในการดูแลเชิงคุณภาพ
ขณะที่นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้นำข้อมูลตั้งต้นของกิจกรรมความร่วมมือด้านสังคมที่จะประสานภาครัฐ ประชาสังคมและเอกชนได้ มาเป็นจุดตั้งต้นในการประสานความร่วมมือ ได้แก่ 1.การพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย 2.การจ้างงานคนพิการ 3. การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 4.การลดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ และ 5.การสร้างเครือข่ายเพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนกิจกรรม ร่วมบริหารจัดพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง อาทิ ในส่วนของการจ้างงานคนพิการ ภาคธุรกิจสามารถเข้ามาสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณประโยชน์ใกล้บ้านในอัตรา 1 ต่อ 100 ตามมาตรา 33 หรือส่งเสริมอาชีพคนพิการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการ 1.9 ล้านคน ลงทะเบียน 1.56 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการไม่มีงานทำ 46% หรือ 352,859 ล้านคน หากภาคเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนจ้างงานผู้พิการได้ตามเป้าอย่างน้อย 10,000 คน จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ถึง 1 พันล้านบาท
"ปัจจุบันผู้สูงอายุ 34% มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน หรือ 2,572 บาทต่อคนต่อเดือน และปัจจุบัน 1 ใน 10 ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ทำให้ในอนาคตรัฐจะต้องจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลและการดูแลเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจหรือระบบบริการเพื่อการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุได้ หรือในประเด็นการป้องกันอุบัติเหตุภาคเอกชน สามารถกำหนดมาตรการความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรม สถานประกอบการและโรงงาน อาทิ มาตรการสวมหมวกนิรภัย 100% มาตรการเมาไม่ขับ มาตรการคาดเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น โดยภาคประชาสังคมจะเป็นจุดจัดการในพื้นที่ เชื่อมโยงและประสานเครือข่ายในระดับชุมชน ติดตามการปฏิบัติงาน และเตรียมความพร้อมให้ในกลุ่มต่างๆ อาทิ ผู้พิการ ครอบครัว และชุมชน ซึ่งเหล่านี้เป็นพื้นที่มีการเตรียมดินไว้แล้ว หากมีความร่วมมือจากภาคเอกชน ไปร่วมกันลงแรงเพาะปลูกต่อในพื้นที่นั้น เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นก็จะงอกงามได้เร็วขึ้น และเกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาประเทศ" นายสุปรีดา กล่าว
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ข้อเสนอทั้ง 5 ประเด็นมีความเป็นไปได้สูงที่ภาคธุรกิจจะเข้ามาเป็นกลไกร่วมพัฒนาชุมชน สร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ ในส่วนกลุ่มมิตรผลได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายทำงานกับ สสส. โดยเฉพาะประเด็นการจ้างงานผู้พิการมาแล้วหลายปี และเชื่อว่าหากสร้างกลไกสนับสนุนให้องค์กรเอกชนที่เข้มแข็งได้รับรู้วิธีการก็จะเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาภาคเอกชนจะประสบปัญหาจัดหาผู้พิการไม่ได้ เพราะเมื่อขอไปทางรัฐบาลก็อาจส่งมาไม่ตรงประเด็น มาทำงานไม่ได้ ดังนั้นต้องไปลงในชุมชนในพื้นที่ ที่ผ่านมากลุ่มมิตรผล ได้ร่วมกับ สสส.จ้างงานผู้พิการในพื้นที่ 77 คน ผลออกมาดีมาก โดยผู้พิการสามารถเข้าไปทำงานใน อบต.และ อบจ. ก็จะช่วยได้มาก และสร้างงานให้เอกชนได้ ในส่วนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชนนั้น เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นประเด็นที่ดีที่ต้องไปร่วมกันกระตุ้นให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาอุบัติเหตุ เป็นภาระอย่างมากของประเทศ รัฐต้องเสียงบประมาณ ครอบครัวก็ต้องเสียเวลาในการดูแล เป็นปัญหาที่ภาคเอกชนเองพร้อมเข้ามาร่วมหาแนวทางแก้ไข