กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของไทย ประกาศแผนการลงทุนและความร่วมมือกับ Dynamic Food Ingredients (DFI) ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาสารให้ความหวานจากสหรัฐอเมริกา โดยจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาต่อยอดสร้างโรงงานผลิตสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่"ฟู๊ดอินโนโพลีส" หรือเมืองนวัตกรรมอาหารของไทยในอนาคตอันใกล้นี้ โดย DFI เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาสารให้ความหวาน เป็นรายเดียวในโลกที่นำนวัตกรรมการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตที่ดึงคาร์บอนออกจากโมเลกุลมาแปรรูปน้ำตาลให้เป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่มีแคลอรี่ต่ำ ได้แก่ อีริทริทอล (Erythritol) และไซลีทอล (Xylitol) ซึ่งเป็นที่แพร่หลายที่สุดในโลก ในระยะเริ่มต้นจะมุ่งเน้นการผลิตที่สหรัฐอเมริกาก่อน ควบคู่กับการร่วมกันวิจัยและพัฒนาที่"ฟู๊ดอินโนโพลีส" (Food Innopolis)
"เรามุ่งหวังที่จะนำองค์ความรู้จากการร่วมพัฒนาครั้งนี้มาต่อยอดสร้างโรงงานผลิตสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่ฟู๊ดอินโนโพลีสในอนาคตอันใกล้ด้วย โดยการร่วมวิจัยครั้งนี้จะมุ่งเน้นการผลิตสารให้ความหวานจากแป้งหรือน้ำตาล ซึ่งได้แก่ อีริทริทอล และไซลีทอล โดยใช้วัตถุดิบจากพืชเกษตรที่ปลูกในเมืองไทย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นสารให้ความหวานทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ"นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าว
ด้านนายปีเตอร์ มิเชนเนอร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ กลุ่มมิตรผล กล่าวเสริมว่า เงินลงทุน 55 ล้านเหรียญดอลลาร์นี้มิตรผลจะเข้าลงทุนใน DFI ทั้งด้านการวิจัย ด้านโรงงานใหม่ ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ทำให้มิตรผลได้ Knowhow จาก DFI และต่อไปก็จะร่วมมือกับ DFI ในการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น ส่วนการผลิตเบื้องต้นจะใช้โรงงานที่สหรัฐฯ คาดว่าอีก 2-3 เดือนจะเริ่มก่อสร้าง และคาดว่าจะเริ่มผลิตในส่วนของอีริทริทอลได้ก่อนในปีหน้า กำลังผลิตประมาณ 6 พันตัน ส่วนไซลีทอลยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา โดยจะพยายามสนับสนุนการใช้วัตถุดิบคืออ้อยและแป้งมันสำปะหลังจากประเทศไทยให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีแผนจะตั้งโรงงานผลิตอีริทริทอลและไซลีทอลในประเทศไทยด้วย แต่ต้องพิจารณารายละเอียดซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นที่ใดที่หนึ่งในโรงงานมิตรผลทั้ง 6 แห่ง และจะใช้วัตถุดิบคืออ้อยและแป้งมันสำปะหลังจากประเทศไทยเพื่อเป็นการส่งเสริมความต้องการใช้สินค้าเกษตรจากเกษรกรไทย ซึ่งการใช้วัตถุดิบที่อยู่ใกล้โรงงานจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงเมื่อผลิตเป็นสินค้าออกมาจำหน่าย เนื่องจากกระบวนการที่ใช้ในการผลิตอีริทริทอลและไซลีทอลเป็น Clean Process มีต้นทุนในการผลิตสารให้ความหวานจากธรรมชาติจะมีราคาถูกกว่าน้ำตาลทั่วไปถึง 10 เท่า
แต่เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่จำกัด ดีมานด์ในตลาดค่อนข้างสูงแต่ซัพพลายยังมีจำกัด ทำให้มองว่า น่าจะยังเป็นโอกาสของสารให้ความหวานทั้งสองชนิดนี้เพราะแนวโน้มผู้บริโภคของตลาดกลุ่มนี้น่าจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆตามกระแสรักสุขภาพ
ปัจจุบันกำลังการผลิตอีริทริทอลและไซลีทอลอยู่ที่ 1.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่กำลังผลิตน้ำตาลทั่วโลกอยู่ที่ 200 ล้านตันต่อปี ส่วโดยในปี 2558 ที่ผ่านมา อัตราการบริโภคอีริทริทอลทั่วโลกอยู่ที่ 65,000 ตัน โดยคาดว่ามีอัตราการเติบโต 7-8% ต่อปี ขณะที่การบริโภคไซลีทอลทั่วโลกอยู่ที่ 250,000 ตัน โดยคาดว่ามีอัตราการเติบโต 8-9% ต่อปี
"แต่เทรนด์ของคนรักสุขภาพ แม้แต่ผู้ที่เป็นเบาหวานยังต้องการความหวานที่ปริมาณแคลอรี่น้อยและไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพคาดว่าจะมีสูงขึ้นเรื่อยๆ"
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างธุรกิจของมิตรผลซึ่งมีอยู่หลากหลายทั้งไฟฟ้า เอทานอล น้ำตาลเพื่อการบริโภค ซึ่งแน่นอนในทุกๆธุรกิจที่มิตรผลไปลงทุนต้องสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กลุ่มมิตรผลแน่นอน และยังเป็นการลดความเสี่ยงกรณีราคาน้ำตาลโลกผันผวน ซึ่งธุรกิจใหม่นี้จะมาช่วยลดความเสี่ยงและยังสามารถสร้างความมั่นคงให้สินค้าเกษตรด้วย
ส่วนที่มิตรผลหันมาตชจับตลาดนี้เป็นเพราะกำลังมีการรณรงค์ให้บริโภคน้ำตาลน้อยลงหรือไม่ นายปีเตอร์ กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลดำเนินธุรกิจโดยใส่ใจสังคมมาตลอด การที่เราหันมาลงทุนในธุรกิจสารให้ความหวานจากธรรมชาตินี้เป็นเหมือนการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพ
สำหรับอีริทริทอล และไซลีทอล เป็นสารให้ความหวานแคลอรีต่ำ มีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งเป็นเครื่องปรุงรสบนโต๊ะอาหารในร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารจากธรรมชาติ การร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างมิตรผลและ DFI ครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในเรื่องรสชาติที่ดีควบคู่กับประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งสำหรับผู้ที่ต้องการสุขภาพที่ดี และผู้ที่มีความจำเป็นด้วยเหตุผลด้านปัญหาสุขภาพ นอกจากนั้น การร่วมมือกันครั้งนี้ยังมีการพัฒนาวัตถุดิบซึ่งสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ และสารเคมีที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้