นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้สรุปความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นทั้งหมด 1.78 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความรับผิดเฉพาะตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ในมาตราที่ 8 ที่ระบุว่าในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ และเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น จึงส่งผลทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็น 20% ของความเสียหายทั้งหมดของโครงการ หรือคิดเป็นมูลค่า 3.57 หมื่นล้านบาท ซึ่งตนได้ลงนามในหนังสือสรุปรับรองความเสียหายไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา
โดยหลังจากนี้จะส่งข้อมูลให้กระทรวงการคลัง และสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ขณะที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ หากไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นศาลปกครองขอเพิกถอนยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ แต่หากไม่มีการยื่นขอเพิกถอนคำสั่งก็จะเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ต่อไป
"ในประเด็นที่มีการนำนโยบายรับจำนำข้าวมาเป็นนโยบายหาเสียงนั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นความผิด เนื่องจากยังไม่มีการทำให้เกิดความเสียหาย แต่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นในด้านผู้บังคับบัญชาในการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีหน้าที่ต้องระมัดระวังความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ส่วนความรับผิดชอบอีก 80% ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมดนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับไปดำเนินการซึ่งต้องเร่งยื่นเรื่องดำเนินการตามกฎหมายภายใน ก.พ.60 ซึ่งคดีนี้มีอายุความ 10 ปี ตั้งแต่ปี 54-64" อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
พร้อมยอมรับว่า ตัวเลขความเสียหายที่ออกมาอาจจะไม่ตรงกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าวที่มีนายจิรชัย มูลทองโร่ย เป็นประธานได้สรุปความเสียหายในโครงการดังกล่าวไว้ที่ 2.8 แสนล้านบาท เนื่องจากกระบวนการในการพิจารณาความเสียหายแตกต่างกัน
นายมนัส กล่าวอีกว่า การพิจารณาความเสียหายในครั้งนี้ เป็นการพิจารณาความเสียหายเฉพาะ 2 โครงการ คือ โครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต ปี 55/56 และ 56/57 จากทั้งหมด 4 โครงการ เนื่องจากในช่วงที่มีการดำเนินโครงการนั้น ได้มีหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งหนังสือเตือนถึง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในลักษณะชี้แนะให้ทราบถึงประเด็นปัญหา และหาแนวทางป้องกันแก้ไข
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือชี้แจงและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าวว่าอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณ 2 แสนล้านบาท และการกู้เงินถึง 4 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่แน่ชัดว่าโครงการเกิดความเสียหายแล้ว ซึ่งตามวินัย น.ส. ยิ่งลักษณ์ จะต้องมีการท้วงติงหรือสั่งระงับโครงการ แต่กลับไม่ดำเนินการยับยั้ง รวมถึงคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ก็ได้ชี้แจงไปยังรัฐบาลในขณะนั้นว่าโครงการรับจำนำข้าวจะทำให้เกิดความเสียหาย โดยจากประเด็นดังกล่าวเป็นเหตุผลทำให้เข้าใจว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ จงใจให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวทั้ง 2 โครงการ
"ยืนยันว่า การพิจารณาทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการ และไม่หนักใจ เพราะได้ทำอย่างที่ถูกต้องและสมควรแล้ว โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ย. เวลา 16.00 น. ผมในฐานะประธานกรรมการฯ ได้ลงนามในหนังสือรับรองสรุปความเสียหายเรียบร้อยแล้ว ถือว่าสิ้นสุดความรับผิดชอบในส่วนของผม หลังจากนี้จะเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย" นายมนัส กล่าว