กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Auto E License" กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. เตรียมผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานบำบัดและกำจัดกากของเสียผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ นำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการดำเนินงานให้แพร่หลายมากขึ้นนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงพัฒนาระบบสารสนเทศการจัดการกากอุตสาหกรรม (E-license) เพื่อยกระดับการอนุญาตกากอุตสาหกรรมขึ้นมาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้พิจารณาอนุญาตแทนเจ้าหน้าที่และแจ้งผลให้กับผู้ประกอบการได้ทราบทันทีในเวลานั้น เป็นช่องทางการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการบำบัดและกำจัดกากของเสียให้เข้าสู่มาตรฐานมากยิ่งขึ้น และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานในการขออนุญาตนำของเสียออกนอกบริเวณโรงงานให้เกิดการเข้าถึงและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
การดำเนินโครงการดังกล่าว ในระยะแรกนำร่องบริษัทผู้รับบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 9 ราย รวมทั้งสิ้น 13 บริษัท ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการชั้นดี โดยเป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการกากอุตสาหกรรมภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานการประกอบการรับบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่
1.บมจ. ทีพีไอโพลีน (TPIPL) 2.บริษัท บางปู เอนไววรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด 3.บริษัท อีสเทิร์น ซีบอร์ด เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด 4.บริษัท สุขเจริญทรัพย์ วังเย็น จำกัด 5.บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) 6.บมจ. อัคคีปราการ (AKP) 7.บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCC) 8.บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด 9.บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด 10.บริษัท เอส ซีไออีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด 11.บมจ. บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GENCO) 12.บริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด และ 13.บริษัท ไมโครไบโอเทค จำกัด เป็นการนำร่องเพื่อพิจารณาผลสัมฤทธิ์
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดรหัสของเสียและรหัสวิธีบำบัด/กำจัดของเสียที่ผู้รับดำเนินการทั้ง 13 ราย ที่สามารถดำเนินการได้จริงและสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์
ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า โครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในระยะแรก จะใช้เวลาดำเนินงาน 6 เดือน นับจากวันที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาระบบการอนุญาตกากอุตสาหกรรมจากระบบเอกสารเป็นระบบไร้กระดาษหรือการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-License) จะช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการที่ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม และ สามารถขยายผลไปยังผู้ประกอบกิจการรายอื่นๆ เพื่อให้กากเข้าสู่ระบบตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ.2558 – 2562 ที่จะต้องดำเนินการให้กากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90% ภายใน 5 ปี