นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การใช้พลังงาน 9 เดือนแรกของปี 59 (ม.ค.-ก.ย.) ในภาพรวมคาดว่ามีการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) โดยมีความต้องการใช้พลังงานอยู่ที่ 2,105 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน แบ่งเป็น การใช้น้ำมัน เพิ่มขึ้น 4.8% จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แม้จะเริ่มปรบตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีความต้องการใช้ในระดับสูง เช่นเดียวกับการใช้ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 7.4% จากการใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
ด้านการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้น 22.2% เนื่องจากโรงไฟฟ้าหงสา หน่วยที่ 3 ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตั้งแต่เดือนมีนาคม
ขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงสุด 43% ของการใช้พลังงานขั้นต้นทั้งหมด มีการใช้ลดลง 2.6% เนื่องจากในช่วงต้นปีแหล่งก๊าซธรรมชาติของเมียนมาหยุดจ่ายก๊าซเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์ และแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย (เจดีเอ) หยุดซ่อมบำรุงในเดือนสิงหาคม ทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติในระบบลดลง
สำหรับปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าอยู่ที่ระดับ 4,726 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลง 1.0% โดยเป็นการลดลงเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า ลดลง 1.3% เนื่องจากในช่วงที่เมียนมาหยุดจ่ายก๊าซ โรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตกเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นในการผลิตไฟฟ้าแทน การใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงแยกก๊าซ ลดลง 1.4% และการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลง 8.6% เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่ลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ทำให้ผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันไปใช้น้ำมันแทน NGV
ส่วนปริมาณการใช้ไฟฟ้า ช่วง 9 เดือนแรกคาดว่ามีการใช้ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 137,424 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 4.9% โดยเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภาคส่วน ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) รอบปัจจุบัน เดือนก.ย.-ธ.ค. อยู่ที่อัตรา -33.269 สตางค์/หน่วย คงที่เท่ากับช่วงก่อนหน้า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ไฟฟ้าและรองรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นในต้นปีหน้า
ขณะที่การใช้น้ำมันสำเร็จรูป คาดว่าอยู่ที่ระดับ 137 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.8% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเกือบทุกประเภทตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยการใช้น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นกลุ่มน้ำมันสำเร็จรูปสำคัญ มีการใช้เพิ่มขึ้น 12.1% และ 4.1% ตามลำดับ ขณะที่การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อยู่ที่ระดับ 503 พันตันต่อเดือน ลดลง 10.8% โดยลดลงในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งการใช้ในภาคปิโตรเคมี ลดลง 20.6% เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเปลี่ยนไปใช้แนฟทาในการผลิตปิโตรเคมีแทน LPG ส่วนภาคขนส่ง ลดลง 15.6% เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันไปใช้น้ำมันที่มีราคาถูกลง ด้านการใช้ในภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนการใช้สูงสุด มีการใช้ค่อนข้างคงที่หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.4% ทั้งนี้ความต้องการใช้ LPG ที่ลดลงอย่างมากส่งผลให้การนำเข้า LPG ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 58
“สำหรับดัชนีชี้วัดด้านพลังงาน พบว่า ดัชนีชี้วัดความมั่นคงด้านพลังงาน และดัชนีด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ขณะที่ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลกระทบให้มีการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น สนพ. จึงยังคงขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยล่าสุดได้มีกิจกรรม ชีวิตหาร 2 ลดครึ่งใช้ครึ่ง ประหยัดชัวร์ อีกหนึ่งแคมเปญที่จะมาช่วยปลุกกระแสประชาชนร่วมกันประหยัดพลังงาน เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานไทย"นายทวารัฐ กล่าว