ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 59 เติบโตเพิ่มเป็น 3.3% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตในระดับ 3% เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรายได้เกษตรกรที่เริ่มดีขึ้น รวมทั้งการบริโภคภาครัฐเพิ่มขึ้นจากงบกลางปี และการส่งออกติดลบน้อยลง ขณะที่ปัจจัยลบคือ การลงทนภาคเอกชนยังขับเคลื่อนได้ช้า และเงินเฟ้อปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายปี 59 มีแนวโน้มชะลอตัวมาที่ 3.2% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในไตรมาส 4/58 (ที่มีหลายปัจจัยเร่งการใช้จ่าย) และการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงด้วยเช่นกัน ขณะที่มองว่าภาพรวมในครึ่งปีหลังโดยเฉลี่ยแล้วจะชะลอตัวกว่าครึ่งปีแรก แต่ยังรักษาระดับการเติบโตของ GDP ได้เดิน 3% ในแต่ละไตรมาส
ส่วนในปี 60 คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งต่อให้เติบโตได้ใกล้เคียงปีนี้
นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า การปรับประมาณการ GCP ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% มาจากปัจจัยบวก คือ 1.การบริโภคภาคเอกชนที่มีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และรายได้เกษตรกรที่เริ่มดีขึ้น 2.การบริโภคภาครัฐเพิ่มขึ้นจากงบกลางปี และ 3.การส่งออกที่คาดว่าจะติดลบน้อยลงเหลือ -1.8% จากเดิมที่คาดไว้ -2% แต่ยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตาม คือ การลงทุนภาคเอกชนยังขับเคลื่อนได้ช้า และเงินเฟ้อปรับลดลง
ขณะที่มองว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/59 จะเติบโต 3.2% แนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาส 3/59 ที่เติบโต 3.4% สาเหตุมาจากการส่งออกที่อาจจะยังเติบโตได้ไม่ดีนัก เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกยังเป็นตัวกดดัน ประกอบกับ การแข่งขันที่สูงในตลาดโลก และโครงสร้างการส่งออกของไทยยังมีรูปแบบเดิม คือ ไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ
อีกสาเหตุ คือ การท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากผลของการจัดระเบียบธุรกิจท่องเที่ยว หรือการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญจากจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 3 แสนคน คาดว่าจะทำให้การท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 เติบโตลดลงมาเหลือเป็นตัวเลขหลักเดียว จากที่ไตรมาส 3 เติบโตได้ถึง 13% โดยรายได้จากการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนการเติบโตของ GDP ในช่วงครึ่งปีแรกถึง 2% ดังนั้น ส่วนที่หายไปจึงมีผลกดดัน GDP อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พร้อมมองว่า ในไตรมาส 4 นี้การบริโภคก็คาดว่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 4/58 ที่ในช่วงนั้นมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยออกมาในช่วงสิ้นปี รวมทั้งยอดขายรถยนต์ที่กลับมาหดตัว ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐยังเป็นแรงหนุนสำคัญ หลายโครงการเริ่มมีความคืบหน้าช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน เช่น การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง, การประกวดราคารถไฟทางคู่ ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และมาบกระเบา-จิระ ตลอดจนการทยอยประกวดราคาสัญญาที่เหลืออยู่ของมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา, บางใหญ่-กาญจนบุรี และการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟสสอง
"เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.3% ชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโตได้ 3.4% แต่ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตไว้ได้เกิน 3% ในแต่ละไตรมาส และโดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังขาดสมดุลของแรงขับเคลื่อนที่มาจากภาคเอกชน ขณะที่มีแรงกระตุ้นจากภาครัฐและการท่องเที่ยวเป็นตัวผลักดันหลัก" นางพิมลวรรณ กล่าว
ด้านปัจจัยต่างประเทศ นางพิมลวรรณ มองว่า เศรษฐกิจโลกยังเผชิญกับความผันผวนสูง ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจจะพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมเดือนธ.ค.นี้ แต่อยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐดีน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ขณะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ยังจำเป็นต้องอาศัยมาตรการกระตุ้นหล่อเลี้ยง momentum การเติบโต เช่น ทางการจีนยังต้องอัดฉีดผ่านนโยบายการคลังควบคู่กับนโยบายการเงิน, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มขยายระยะเวลา QE, ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม
การที่เศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้ายังคงเป็นแรงถ่วงต่อการส่งออกของไทย ขณะที่ราคาโภคภัณฑ์มีความเสี่ยงเชิงลบน้อยลง แต่ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ในกรอบจำกัด ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาปัจจัยภายในประเทศท่ามกลางแนวโน้มการท่องเที่ยวที่อาจชะลอตัว, การกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านกลไกงบประมาณอาจเป็นไปได้จำกัดมากขึ้น เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในปี 60 เมื่อเทียบกับปี 59 ที่รวมงบกลางปีไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
"กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฝั่งรัฐบาล จึงต้องมุ่งเน้นไปที่การเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้เดินหน้าได้รวดเร็วกว่าที่ผ่านมา รวมทั้งกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งโดยรวมแล้วคาดว่าเศรษฐกิจไทย จะยังมีแรงส่งต่อให้เศรษฐกิจในปี 60 เติบโตได้ใกล้เคียงกับปีนี้" นางพิมลวรรณ กล่าว
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 60 ประเมินเบื้องต้นว่าจะเติบโตได้ 3.3% โดยตัวหลักที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโต คือ โครงการลงทุนของภาครัฐที่จะเริ่มก่อสร้างได้ รวมถึงสถานการณ์การส่งออกที่คาดว่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อย โดยคาดว่าจะโตได้ 0.8% ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาส่วนใหญ่มาจากปัจจัยต่างประเทศ คือ เศรษฐกิจโลกยังมีความแปรปรวนสูง โดยเศรษฐกิจจีน, ยุโรป และญี่ปุ่น ยังฟื้นตัวได้ไม่สม่ำเสมอ ส่วนสหรัฐฯ คงต้องจับตาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ปัจจัยภายในประเทศที่จะมีการเลือกตั้งในปลายปี 60 นั้น นางพิมลวรรณ กล่าวว่า หากภาครัฐมีการวางกลไกการเบิกจ่ายโครงการลงทุนที่สำคัญให้เริ่มไปตามขั้นตอนที่วางไว้ได้ ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบแต่อย่างใด ถ้าสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพไปจนถึงช่วงเลือกตั้ง