(เพิ่มเติม) World Economic Forum เผยไทยได้อันดับความสามารถแข่งขันที่ 34 ใกล้เคียงปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 28, 2016 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงผลสำรวจรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ประจำปี 2016 ของ World Economic Forum (WEF) ซึ่งเปรียบเทียบความสามารถการแข่งขันของ 138 ประเทศทั่วโลก โดยปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 34 โดยมีคะแนน 4.6 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน

"ปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 ด้วยคะแนน 4.6 ซึ่งใกล้เคียงปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในอันดับ 32 และมีคะแนน 4.6 เท่ากัน" นายพสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา จะพบว่า ด้านที่มีอันดับที่ดีขึ้นและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค ที่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 5.7 เป็น 6.1 และได้รับอันดับดีขึ้นจาก 27 เป็น 13 นับเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากในแง่ของสมดุลในงบประมาณรัฐบาล, สัดส่วนการออมของประเทศต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (% GDP )ที่สูงขึ้น และ สัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (% GDP) ที่ลดต่ำลง นอกจากนี้ในด้านนวัตกรรม (Innovation) ที่ได้รับคะแนนเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่ได้รับอันดับที่ดีขึ้นจาก 57 เป็น 54

ขณะที่ประเทศที่ได้อันดับ 1 ถึง 10 ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ฮ่องกง และฟินแลนด์ ตามลำดับ

ทั้งนี้จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งทาง WEF มองว่า ประเทศไทยหรือกลุ่มประเทศอาเซียน ถ้าอยากจะก้าวพ้นจากกับดักของการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง และมีอันดับ หรือ Ranking ที่ดีขึ้น จะต้องหันมาเน้นในเรื่องของนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบาย แต่ยังไม่สามารถเห็นผลออกมาได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ การจัดอันดับในอนาคตของ WEF อาจจะมีการปรับแบบสำรวจให้สอดคล้องกับการเป็นอุตสาหกรรม 4.0 (Industrial Evolution 4.0) มากขึ้น ซึ่งจะเน้นการตื่นตัว การคล่องตัวทางธุรกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะของบุคลากร เพื่อรองรับต่อสภาวะอุตสาหกรรมในอนาคต

อย่างไรก็ตามมองว่าหากมีการปรับแบบสำรวจดังกล่าว ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ ที่อาจจะทำให้การจัดอันดับปรับตัวลง ซึ่งภาครัฐจะต้องหันมามุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างบุคลากร ให้รองรับกับการเปลี่ยนของอนาคต ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมพร้อมสร้างนวัตกรรม และบริษัทเอกชนก็ต้องมีการพัฒนาในเรื่อง evolution มากขึ้น

"ที่ประเทศไทยมีคะแนนเท่าเดิม เป็นเพราะประเทศอื่น ๆ สามารถทำได้ดีขึ้น ขณะที่เราบางตัวตกลง บางตัวดีขึ้น คะแนนเฉลี่ยจึงเท่าเดิม ขณะที่มีบางประเทศที่มีการพัฒนาในเชิงของคะแนนดีขึ้น คือ สเปนและชิลี จึงทำให้คะแนนแซงเราไป ขณะเดียวกันไม่ใช่แค่ไทยที่มีคะแนนตกลง โดยในกลุ่มอาเซียน ยกเว้น กัมพูชา และสิงคโปร์ ที่อันดับเท่าเดิม"นายพสุ กล่าว

พร้อมกันนี้เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศในกลุ่ม ASEAN + 3 พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในลำดับที่ 6 เมื่อเทียบกับกลุ่ม ASEAN+3 ทั้งหมด โดยเป็นรองประเทศ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และ จีน โดยดัชนีชี้วัดของไทยที่โดดเด่น ประกอบด้วย ความน่าดึงดูดใจของทรัพย์สินทางธรรมชาติ (Attractiveness of Natural Assets) ที่ได้รับอันดับหนึ่ง ,การให้ความสำคัญของรัฐบาลที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเดินทาง ได้รับอันดับที่ 2 เป็นรองประเทศสิงคโปร์ ซึ่งสร้างความโดดเด่นให้กับธุรกิจท่องเที่ยวของไทย และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Extent of Virtual Social Networks Use) ที่ได้รับอันดับที่ 2 เป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เช่นกัน

อีกทั้ง ในแง่ของความแข็งแกร่งของธนาคาร และ การเข้าถึงตลาดทุนภายในประเทศ (Local Capital Market Access) ได้รับอันดับ 3 รองจากประเทศ สิงคโปร์ และ ญี่ปุ่น รวมถึงปัจจัยทางการด้านการตลาด (Extent of Marketing) และ ประสิทธิผลในการใช้การตลาดและแบรนด์ดิ้ง (Effectiveness of Marketing and Branding) ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้รับอันดับที่ 3 โดยทั้งสองประเด็นข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศใน ASEAN+3 นับว่าเป็นการสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยด้านความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจ ทั้งทางด้านการเงินและการตลาดในเวที ASEAN+3 ได้เป็นอย่างดี

นายพสุ กล่าวต่ออีกว่า ในเรื่องของ Thailand 4.0 ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่อาจจะไม่สามารถเห็นผลได้ภายใน 1 ปี ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาพอสมควรถึงจะเห็นผล และน่าจะทำให้ไทยมีอันดับที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันภาคธุรกิจควรจะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จากผลสำรวจที่น่าจะมีการปรับเปลี่ยนในอนาคต ที่จะมีการกล่าวถึง ในเรื่องของ innovative company ,international brand มากขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้ภาคธุรกิจจะต้องช่วยกันขับเคลื่อน สอดคล้องกับการส่งเสริมจากรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ