น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index) หรือ KR-ECI ในเดือน ก.ย.59 อยู่ที่ระดับ 44.2 ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และขยับขึ้นต่อเนื่องมาอยู่สูงสุดในรอบ 7 เดือน จากผลของราคาสินค้าที่ปรับลดลง, ค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ลดลง, ครัวเรือนมีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น และความกังวลในการชำระหนี้ลดลง ประกอบกับมีเงินออมเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นในประเด็นเรื่องรายได้ โดยพบว่า 50.7% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจในเดือน ก.ย.มีการเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานในองค์กรที่ทำงานอยู่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.ซึ่งอยู่ที่ 49.4% และประเด็นที่น่าสนใจ คือ พบว่าในเดือน ก.ย. องค์กรหรือหน่วยงานที่ครัวเรือนทำงานหรือเป็นเจ้าของธุรกิจอยู่นั้น มีการปรับตัวในลักษณะของการลดการทำงานนอกเวลา (โอที) มากขึ้น ทำให้ครัวเรือนมีรายได้ลดลง ซึ่งพบว่ามากกว่าครึ่งของครัวเรือนในอุตสาหกรรมการผลิตถูกลดโอที สอดคล้องกับผลการสำรวจภาวะการมีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่ทั้งนี้ถือว่าเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวในเรื่องการจ้างงานให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ "ภาวะการครองชีพของครัวเรือนมีทิศทางที่ดีขึ้น ตามความกังวลจากเรื่องราคาสินค้าที่ลดลง ในขณะที่ครัวเรือนมีมุมมองต่อภาวะการครองชีพในอีก 3 เดือนข้างหน้าไม่แย่ลง สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ที่การบริโภคจะยังรักษาโมเมนตัมการเติบโตไว้ได้" น.ส.ณัฐพร กล่าว พร้อมระบุว่า ประเด็นเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานจะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่ภาครัฐต้องมีนโยบายรับมือกับปัญหาดังกล่าวแต่เนิ่นๆ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกำลังแรงงาน ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว