นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะโตได้ถึง 3.2% จากเดิมที่คาดไว้ว่าโตเกิน 3% ก็น่าพอใจแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้จะเติบโตได้เกินเป้าหมาย แต่รัฐบาลก็ยังคงต้องทำงานหนักกันต่อไป ส่วนมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่ขณะนี้มาถึงไตรมาส 3 แล้วน่าจะเพียงพอแล้ว จากนี้ไปมองว่าไม่จำเป็น
ในส่วนของภาพรวมการส่งออก นายสมคิด กล่าวว่า คงไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้กลับมาขยายตัวได้ในระยะสั้น เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัจจัยภายนอก โดยมองว่าทางเดียวที่จะเห็นภาคการส่งออกของไทยกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น คือผู้ประกอบการจะต้องยกระดับมูลค่าของสินค้า เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะดีหรือร้าย แต่ถ้าสินค้าส่งออกของไทยอยู่ในจุดที่มีประสิทธิภาพยังสามารถแข่งขันได้อยู่ดี ดังนั้นการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม ผ่านการลงทุนในด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าส่งออกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยที่ผ่านมาเห็นว่าภาคเอกชนของไทยเริ่มเรียนรู้และลงทุนในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย
“ปีนี้ถ้า GDP ขยายตัวเกิน 3% ก็น่าพอใจแล้ว และแม้ว่าจะขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมาย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำงานหนักกันต่อไป ส่วนการลงทุนในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมก็เป็นสิ่งจำเป็น แม้ว่าจะไม่ลงทุนเรื่องนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ที่ 3% แต่ก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะยังเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำและต้องจริงจังด้วย" นายสมคิด กล่าว
ในวันนี้ นายสมคิด ได้เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง เพื่อมอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินงานให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่เหลืออีก 1 ปีหลังจากนี้ โดยให้เน้นการปฏิรูปมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจในขณะนี้สามารถประคองตัวให้ขยายตัวต่อไปได้ในอนาคต
สำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับองค์กรให้เข้มแข็งเป็นเสาหลักในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้เร่งออก พ.ร.บ.กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ ซุเปอร์โฮลดิ้ง ให้มีการทำตัววัดผลการดำเนินงาน (KPI) ของรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน และให้ 3 กรมภาษี คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เร่งขยายฐานการเก็บภาษี และมีความโปร่งใส โดยเฉพาะกรมศุลกากรที่ยังมีการทุจริตอยู่มาก
นอกจากนี้ ยังได้สั่งให้คลังไปศึกษาตั้งกองทุนเพื่อดูแลคนชรา ว่าจะให้หักจากภาษีส่วนไหนมาเป็นแหล่งเงินทุนของกองทุน เนื่องจากการดูแลคนแก่ของไทยมีภาระเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันให้กระทรวงการคลังไปช่วยดูแลการปัญหาการทำงานของกองทุนประกันสังคมที่มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย เพื่อให้กองทุนไม่มีปัญหาดูแลสมาชิกไม่ได้อนาคต
และในสัปดาห์หน้าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบออก พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อบังคับให้ผู้ประกอบการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออกไว้ใช้หลังที่เกษียณจากการทำงาน
นายสมคิด ยังกล่าวถึงกรณีที่ World Economic Forum (WEF) จัดทำดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ประจำปี 2016 โดยปีนี้ไทยตกลงมา 2 อันดับในคะแนนเท่าเดิมว่า เนื่องจากประเด็นการศึกษาของไทยยังไม่ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญของประเทศที่อาจต้องใช้เวลา ดังนั้น จึงเป็นตัวฉุดในการสำรวจครั้งนี้
ขณะที่เมื่อพิจารณาในรายละเอียด ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง เพราะแม้อันดับตกลงแต่คะแนนยังเท่าเดิม อีกทั้งเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันพบว่าอ้นดับของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมาเลเซีย ตกลงมา 7 อันดับ ฟิลิปปินส์ ตกลงมา 10 อันดับ อินโดนีเซีย ตกลงมา 4 อันดับเวียดนาม ตกลงมา 4 อันดับ และลาว ตกลงมาถึง 10 อันดับ
แต่ที่เป็นจุดน่าสังเกตุ คือ คะแนนภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 13 จากปีก่อนอยู่ในอันดับ 24 ถือว่าน่าพอใจอย่างมาก ในส่วนนี้กระทรวงการคลังมีส่วนช่วยค่อนข้างมาก หลังจากนี้ก็ยังต้องพยายามกันต่อไป
ส่วนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อันดับตกลงมาเล็กน้อย เนื่องจากในช่วงที่ทำการสำรวจเม็ดเงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังออกไปไม่เต็มที่ แต่เชื่อว่าในปีหน้าอันดับนี้จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเราจะมีการลงทุนอย่างเต็มที่