คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงผลสำรวจรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ประจำปี 2016 ของ World Economic Forum (WEF) ซึ่งเปรียบเทียบความสามารถการแข่งขันของ 138 ประเทศทั่วโลก โดยปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 34 โดยมีคะแนน 4.6 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน
"ปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 ด้วยคะแนน 4.6 ซึ่งใกล้เคียงปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในอันดับ 32 และมีคะแนน 4.6 เท่ากัน" นายพสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา จะพบว่า ด้านที่มีอันดับที่ดีขึ้นและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค ที่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 5.7 เป็น 6.1 และได้รับอันดับดีขึ้นจาก 27 เป็น 13 นับเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากในแง่ของสมดุลในงบประมาณรัฐบาล, สัดส่วนการออมของประเทศต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (% GDP )ที่สูงขึ้น และ สัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (% GDP) ที่ลดต่ำลง นอกจากนี้ในด้านนวัตกรรม (Innovation) ที่ได้รับคะแนนเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่ได้รับอันดับที่ดีขึ้นจาก 57 เป็น 54
ขณะที่ประเทศที่ได้อันดับ 1 ถึง 10 ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ฮ่องกง และฟินแลนด์ ตามลำดับ
ทั้งนี้จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งทาง WEF มองว่า ประเทศไทยหรือกลุ่มประเทศอาเซียน ถ้าอยากจะก้าวพ้นจากกับดักของการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง และมีอันดับ หรือ Ranking ที่ดีขึ้น จะต้องหันมาเน้นในเรื่องของนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบาย แต่ยังไม่สามารถเห็นผลออกมาได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ การจัดอันดับในอนาคตของ WEF อาจจะมีการปรับแบบสำรวจให้สอดคล้องกับการเป็นอุตสาหกรรม 4.0 (Industrial Evolution 4.0) มากขึ้น ซึ่งจะเน้นการตื่นตัว การคล่องตัวทางธุรกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะของบุคลากร เพื่อรองรับต่อสภาวะอุตสาหกรรมในอนาคต
อย่างไรก็ตามมองว่าหากมีการปรับแบบสำรวจดังกล่าว ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ ที่อาจจะทำให้การจัดอันดับปรับตัวลง ซึ่งภาครัฐจะต้องหันมามุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างบุคลากร ให้รองรับกับการเปลี่ยนของอนาคต ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมพร้อมสร้างนวัตกรรม และบริษัทเอกชนก็ต้องมีการพัฒนาในเรื่อง evolution มากขึ้น
"ที่ประเทศไทยมีคะแนนเท่าเดิม เป็นเพราะประเทศอื่น ๆ สามารถทำได้ดีขึ้น ขณะที่เราบางตัวตกลง บางตัวดีขึ้น คะแนนเฉลี่ยจึงเท่าเดิม ขณะที่มีบางประเทศที่มีการพัฒนาในเชิงของคะแนนดีขึ้น คือ สเปนและชิลี จึงทำให้คะแนนแซงเราไป ขณะเดียวกันไม่ใช่แค่ไทยที่มีคะแนนตกลง โดยในกลุ่มอาเซียน ยกเว้น กัมพูชา และสิงคโปร์ ที่อันดับเท่าเดิม"นายพสุ กล่าว
พร้อมกันนี้เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศในกลุ่ม ASEAN + 3 พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในลำดับที่ 6 เมื่อเทียบกับกลุ่ม ASEAN+3 ทั้งหมด โดยเป็นรองประเทศ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และ จีน โดยดัชนีชี้วัดของไทยที่โดดเด่น ประกอบด้วย ความน่าดึงดูดใจของทรัพย์สินทางธรรมชาติ (Attractiveness of Natural Assets) ที่ได้รับอันดับหนึ่ง ,การให้ความสำคัญของรัฐบาลที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเดินทาง ได้รับอันดับที่ 2 เป็นรองประเทศสิงคโปร์ ซึ่งสร้างความโดดเด่นให้กับธุรกิจท่องเที่ยวของไทย และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Extent of Virtual Social Networks Use) ที่ได้รับอันดับที่ 2 เป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เช่นกัน
อีกทั้ง ในแง่ของความแข็งแกร่งของธนาคาร และ การเข้าถึงตลาดทุนภายในประเทศ (Local Capital Market Access) ได้รับอันดับ 3 รองจากประเทศ สิงคโปร์ และ ญี่ปุ่น รวมถึงปัจจัยทางการด้านการตลาด (Extent of Marketing) และ ประสิทธิผลในการใช้การตลาดและแบรนด์ดิ้ง (Effectiveness of Marketing and Branding) ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้รับอันดับที่ 3 โดยทั้งสองประเด็นข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศใน ASEAN+3 นับว่าเป็นการสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยด้านความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจ ทั้งทางด้านการเงินและการตลาดในเวที ASEAN+3 ได้เป็นอย่างดี
นายพสุ กล่าวต่ออีกว่า ในเรื่องของ Thailand 4.0 ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่อาจจะไม่สามารถเห็นผลได้ภายใน 1 ปี ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาพอสมควรถึงจะเห็นผล และน่าจะทำให้ไทยมีอันดับที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันภาคธุรกิจควรจะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จากผลสำรวจที่น่าจะมีการปรับเปลี่ยนในอนาคต ที่จะมีการกล่าวถึง ในเรื่องของ innovative company ,international brand มากขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้ภาคธุรกิจจะต้องช่วยกันขับเคลื่อน สอดคล้องกับการส่งเสริมจากรัฐบาล
ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เปิดเผยถึงผลสำรวจจาก World Economic Forum เรื่อง Global Competitiveness Report (GCR) ประจำปี 2016-2017 ซึ่งแสดงถึงภาพรวมระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเทียบกับเวทีการค้าโลก
ผลการสำรวจดังกล่าวพบว่า ในปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 จาก 138 ประเทศ ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ในอันดับที่ 32 จาก 140 ประเทศ ทั้งนี้ หากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอาเซียนแล้ว ประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ และยังคงมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
นอกจากนั้น ในปี 59 ประเทศไทยมีคะแนนรวมในการจัดอันดับคงที่เท่ากับปี 58 คือ 4.64 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการแข่งขันของประเทศไม่ได้ถดถอยลงแต่อย่างใด เพียงแต่มาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วอาจยังไม่ส่งผลในทางปฏิบัติให้เห็นเชิงประจักษ์ได้ในปัจจุบัน
สำหรับในปี 59 ประเทศไทยมีความโดดเด่นในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Environment) โดยอยู่อันดับที่ 13 จากเดิมอันดับที่ 27 ในปี 2015 ปรับตัวดีขึ้น 14 อันดับ โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 5.7 เป็น 6.1 คะแนน ซึ่งตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ การใช้จ่ายภาครัฐ (Government Budget Balanced) การออมมวลรวมแห่งชาติ (Gross National Savings) และสัดส่วนหนี้ภาครัฐ (Government Debt) นอกจากนั้น ด้านนวัตกรรม (Innovation) ก็ได้รับการปรับอันดับดีขึ้น 3 อันดับ โดยอยู่ในอันดับที่ 54 ในปี 2016 จากเดิมอันดับที่ 57 ในปี 2015 ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับตัวชี้วัดย่อยที่ได้รับการปรับอันดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของตำรวจ (Reliability of Police Service) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 61 ในปี 2016 จากเดิมอันดับที่ 112 ในปี 2015 ระบบคุณภาพของระบบการศึกษา (Quality of the Education System) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 67 ในปี 2016 จากเดิมอันดับที่ 74 ในปี 2015 นอกจากนี้ ปัจจัยที่เคยเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจมากที่สุด ได้แก่ ความไม่มั่นคงของรัฐบาล ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ และการทุจริตคอร์รัปชัน ได้มีการปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วงต่อไป สภาพการแข่งขันระหว่างประเทศจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของภาคธุรกิจมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม รวมทั้ง พัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ ในขณะเดียวกันภาครัฐต้องปรับปรุงระบบการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และมีความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการสร้างธุรกิจใหม่หรือในการฟื้นตัวของธุรกิจเดิม และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น คุณภาพบริการท่าเรือ เป็นต้น