นายทนง พิทยะ อดีตรมว.คลัง กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนปี 60 คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 60 จะเติบโตได้ 3-3.5% แต่เบื้องต้นมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ราว 3% มากกว่าเพราะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเติบโตในอัตราที่ต่ำ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ยาก แต่การที่ไทยมีภาระหนี้ไม่มาก ประกอบกับพื้นฐานภาคเกษตร และอุตสาหกรรมเฉลี่ยยังเติบโตได้ รวมถึงการบริโภคภายในประเทศในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยไม่ได้กระเตื้องมากนัก ทำให้นักธุรกิจไม่กล้าจะลงทุนมากนักท่ามกลางภาครัฐที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบช้า ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในช่วงต่ำ ส่วนการที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในช่วงสูงระดับ 3.5% นั้นมองว่ายังเป็นจุดที่ไม่ง่ายนักเพราะภาคการส่งออกยังไม่ฟื้น
ในแง่ตลาดหุ้นไทยนั้นหากสิ้นปีนี้ดัชนียังแกว่งไซด์เวย์ ก็จะทำให้ประเมินยากถึงการเคลื่อนไหวของดัชนีในปีหน้า แต่มองว่าความผันผวนจะสูงขึ้นเพราะยังมีความกังวลต่อเหตุการณ์สำคัญ ส่วนการที่ดัชนีหุ้นไทยปีนี้ขยับขึ้นมาที่บริเวณ 1,500 จุดได้ เป็นผลจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของแต่ละประเทศที่อัดฉีดเงินออกมา ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยบ้าง
ขณะที่แง่เศรษฐกิจที่แท้จริงซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าต่อจากนี้ไปไทยจะสามารถแข่งขันได้มากน้อยแค่ไหน เป็นห่วงก็แต่เรื่องการจัดสรรเงินเข้าสู่โครงการสาธารณูปโภคที่ล่าช้า เนื่องจากวิธีการที่ทำอาจทำให้เกิดความล่าช้าและกติกาที่ใช้ เช่น รถไฟไทย-จีน เป็นการเจรจาโดยตรงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ซึ่งมีเงื่อนไขและรายละเอียดค่อนข้างมาก ก็เป็นเหตุผลที่ยังไม่สามารถเริ่มต้นได้
"การขาดความเป็นสากลในแง่การประมูล การปฏิบัติจริง การเจรจา ราคา ถูกหรือไม่ถูก ดอกเบี้ยเป็นยังไง สิ่งเหล่านี้ทำให้ข้าราชการไม่กล้าตัดสินใจ ก็กระทบทางลบ ทำให้การอัดฉีดเงินของรัฐบาลช้าลงไปอีก"นายทนง กล่าว
นายทนง กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกอยู่บนเส้นทางจุดตัดทาง 3 แพร่ง ทางแรกเศรษฐกิจอาจติดลบกลับไปถดถอยอีกครั้ง และอีกทางเป็นเศรษฐกิจที่เริ่มบวกมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลชัดใน 2 ปีต่อจากนี้ไป เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ยังไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นหรือไม่ ยุโรปจะแก้ปัญหาของประเทศที่มีปัญหาได้หรือไม่ เช่น กรีซก็ยังมีการต่อรองปรับโครงสร้างหนี้กันอยู่ ขณะที่ญี่ปุ่นชะลอตัวยังอย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย และประเทศอาเซียนถ้าโตได้ดีก็จะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้ก็จะอิงไปทางบวก แต่ถ้าเศรษฐกิจอินเดีย และอาเซียนโตไม่ทัน ญี่ปุ่นไม่ฟื้นก็จะดึงเศรฐกิจโลกโตลดลงเรื่อย ๆ จึงยังมองว่าปี 60 เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเติบโตน้อยลง เช่น จาก 3% ก็จะเหลือโต 2.9% หรือ 2.8% ก็เป็นได้
"ปัจจัยเสี่ยงที่สุดของโลกตอนนี้คือแต่ละประเทศยังแก้ปัญหาของตัวเองไมได้ ประเทศที่พัฒนาแล้ว จีน ยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกลับมาเติบโตได้ดี ปี 60 ก็จะเกิดภาวะเงินฝืดในแต่ละประเทศซึ่งก็จะกระทบประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างอาเซียนทำให้ปิดกั้นการส่งออก สิ่งเหล่านี้ยังจะยืดเยื้อไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า การตัดสินใจของสหรัฐฯจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ เป็นเครื่องชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นขึ้นแน่นอนหรือยัง แต่ที่ยังไม่ตัดสินใจก็แปลว่ายังไม่แน่ใจ"นายทนง กล่าว
นายทนง กล่าวว่า ความไม่สงบของประเทศในตะวันออกกลาง ที่การสู้รบอาจปะทุขึ้นตลอดเวลา ถึงแม้จะยังมองว่าไม่มีสงคราม เพียงแต่จะทำให้นักลงทุนไม่กล้าที่จะลงทุนเพิ่ม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้นักลงทุนเกิดความระวังตลอดเวลาถ้ารุนแรงขึ้นก็น่ากลัว มีโอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอย ทำให้ตอนนี้นักวิเคราะห์เริ่มมองว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนำไปสู่การเดินทางสู่ทาง 3 แพร่ง มองโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในโลกยังไม่ได้หมดไป แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด
ทั้งนี้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะขึ้นดอกเบี้ยหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยมองที่การประชุมในเดือนพ.ย.มากกว่า เพราะอัตราว่างงานต่ำกว่า 5% เงินเฟ้อก็ขึ้นไปกว่า 1% สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นเป็นบวกแล้ว อย่างไรก็ตาม ในยุโรปยังแก้ปัญหาของแต่ละประเทศไม่จบ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็น่าจะทำให้ฟื้นได้บ้าง จีนเศรษฐกิจโตเหลือแค่กว่า 6% ทำให้ในสายตานักวิเคราะห์ยังมองประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ยังเป็นจุดเสี่ยง เพราะภาวะหนี้ของรัฐและรัฐวิสาหกิจยังสูง