นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2559 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2559 ขยายตัวได้ดี โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวเป็นบวกสะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวสูงมากในเดือนนี้ ส่วนการใช้จ่ายของรัฐบาลกลับมาขยายตัวดีขึ้นจากรายจ่ายลงทุนที่กลับมาขยายตัวในระดับสูง ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังคงเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนยังคงมีสัญญาณชะลอตัว"
การบริโภคภาคเอกชนในเดือนสิงหาคม 2559 ขยายตัวดีโดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนสะท้อนจากยอดขายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.0 ต่อปี และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยขยายตัวดีทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงในภูมิภาค ตามรายได้ของเกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี สำหรับยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่กลับมาหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี โดยมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศและจากฐานการนำเข้าที่หดตัว อย่างไรก็ดี ประชาชนยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยสะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 62.2 โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน ส่งผลต่อความมั่นใจในการใช้จ่ายของผู้บริโภคในระยะต่อไป
การลงทุนภาคเอกชนในเดือนสิงหาคม 2559 ยังคงมีสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่สะท้อนจากยอดขายปูนซีเมนต์ภายในประเทศหดตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี แม้ว่าเครื่องชี้การลงทุนในหมวดนี้จากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรส่งสัญญานชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด วัดได้จากยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี และปริมาณนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี ขณะที่เมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า หดตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนสิงหาคม 2559 พบว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว โดยการเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้ 149.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปี แบ่งเป็นการเบิกจ่ายจากรายจ่ายประจำที่เบิกจ่ายได้ 118.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี และจากรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายได้ 30.5 พันล้านบาท ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 37.2 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) รัฐบาลสามารถจัดเก็บได้จำนวน 208.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.9 ต่อปี โดยจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณร้อยละ 13.0 อันเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ต่ำกว่าประมาณการ ทั้งนี้ ดุลเงินงบประมาณในเดือนนี้เกินดุลจำนวน 27.5 พันล้านบาท
มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนสิงหาคม 2559 กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 5 เดือน และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือนนับจากเดือน มี.ค. 2559 โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ไดโอด เช่น แผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ตลาดส่งออกสำคัญเกือบทุกตลาด กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน โดยเฉพาะการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม)
เศรษฐกิจด้านการผลิต (อุปทาน) ในเดือนสิงหาคม 2559 ปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย (ข้อมูลเบื้องต้น) มีจำนวน 2.87 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีนและกลุ่มประเทศ CLMV เป็นหลัก
สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกลับมาหดตัวที่ร้อยละ 8.3 ต่อปี เนื่องจากผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ เช่น ผลผลิตข้าวเปลือก ที่หดตัวลงเนื่องจากเป็นเดือนแรกของการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี และลดลงตามการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นเนื่องจากปริมาณน้ำในเขตชลประทานเพื่อการเกษตรที่ลดลง นอกจากนี้ยังมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มไม้ผล ที่มีการหดตัวลงเช่นกันเนื่องจากหมดฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.2 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในหมวดพืชผลสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลผลิตในกลุ่มไม้ผล ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนสิงหาคม 2559 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 83.3 เนื่องจากยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาการปรับค่าจ้างแรงงาน
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.3 และ 0.8 ต่อปี ตามลำดับ ด้านอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเช่นกันที่ร้อยละ 0.9 ของแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.6 แสนคน นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 โดยล่าสุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.9 ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ 180.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3.4 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยในการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี