นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2559 กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความช่วยเหลือตามโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือ “กองทุน FTA” เพิ่มอีก 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันหัตถกรรมสิ่งทอภาคเหนือตอนบน ของสมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา (2) โครงการศึกษาตลาด ออกแบบพัฒนา และปรับปรุงมาตรฐานสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้านสำหรับกลุ่มประเทศ CLMV ของสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคมไทย และ (3) โครงการยกมาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตยาแผนโบราณให้ได้ตามหลักเกณฑ์ GMP PIC/S เพื่อรองรับผลกระทบจากข้อตกลงของอาเซียน ของกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร
และสำหรับในปีงบประมาณ 2560 ล่าสุดมีผู้สนใจยื่นขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน FTA แล้ว 27 โครงการ ครอบคลุมทั้งภาคเกษตรกรรม (อาทิ ดาวเรือง มันเส้น และเมล่อน) ภาคอุตสาหกรรม (เครื่องสำอางสมุนไพร และเครื่องสูบน้ำ) และภาคบริการ (กลุ่มวิศวกรไทย กลุ่มท่องเที่ยววิถีเกษตร และกลุ่มบริการด้านขนส่ง)
"มั่นใจว่า กองทุน FTA เป็นเครื่องมือสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่จะขับเคลื่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและ กลุ่มเกษตรกรภายใต้บริบทการค้าโลกปัจจุบันได้อย่างแน่นอน" นางอภิรดี กล่าว
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุน FTA ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 ได้เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนนี้ไปแล้วจำนวน 49 โครงการ จำแนกเป็นให้ความช่วยเหลือที่ให้แก่ภาคเกษตรกรรม 27 โครงการ ภาคอุตสาหกรรม 15 โครงการ และภาคบริการอีก 7 โครงการ
โดยตัวอย่างความสำเร็จของโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือของกองทุน FTA ได้แก่ โครงการโคเนื้อของกลุ่มเกษตรกรโพนยางคำ ปัจจุบันมียอดขายกว่า 100 ล้านบาท, โครงการส้มปลอดสารพิษของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกส้มคุณภาพแม่อาย ซึ่งขณะนี้สามารถเข้าไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า Modern Trade แล้ว, โครงการปลาป่นของกลุ่มโรงงานปลาป่น 40 แห่ง ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP จากกรมปศุสัตว์ จนสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่กระทรวงพาณิชย์ภาคภูมิใจในการมีส่วนช่วยสนับสนุนผลผลิตการเกษตรให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับจนสามารถขยายตลาดทั้งและต่างประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ได้แก่ โครงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม จนสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เอง มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และใช้นวัตกรรมแปรรูปเป็นหอมผง กระเทียมดำ และโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกไม้ตัดดอกในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน และพิจิตร จนสามารถพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์สตาร์เลท (ลูกผสมปทุมมาสกุลขมิ้น) พันธุ์พิงค์เมโลดี้ (ลูกผสมกระเจียว สกุลขมิ้น) และลานนาแองเจิล (ลูกผสมกล้วยไม้สกุลฮาเบนาเรีย) ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการส่งออกหัวพันธุ์ไปขายในประเทศญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ในปี 2558 กว่า 200 ล้านบาท