(เพิ่มเติม1) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ส.ค.ขยายตัว 3.1% จาก ส.ค.58 สูงสุดในรอบ 40 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 30, 2016 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสิรฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีอุตสาหกรรมเดือนส.ค. 59 อยู่ที่ 106.91 มีอัตราขยายตัว 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 103.67 คิดเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย.56 ส่งสัญญาณแนวโน้มการเติบโตจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศของภาครัฐ ด้วยแรงส่งจากการลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยว โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็ก และเครื่องใช้ไฟฟ้า

สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนส.ค.มีการขยายตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 50.94% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปริมารการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกเครื่องปรับอากาศขยายตัวเพิ่มขึ้น

หลอดอิเล็คทรอนิคส์และส่วนประกอบอิเล็คทรอนิคส์ การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดีในสินค้าที่เกี่ยวกับรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์และชิ้นส่วนของอุปกรณ์สื่อสาร

ผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.45% เนื่องจากมีการขยายตลาดไปยังลูกค้าแถบตะวันออกกลาง

เหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็ก การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.95% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยบวกสำคัญจากการที่รัฐมีนโยบายสนับสนุนโครงการบ้านประชารัฐต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการลงทุนในการรับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มขึ้น

เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน จากสินค้าพัดลม ตู้เย็น เครื่องซักผ้า การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.23% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีการส่งเสริมการขายทั้งตลาดภายในและต่างประเทศซึ่งทำตลาดส่งออกได้มากขึ้น

ขณะที่สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ลดลง 11.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับแผนการผลิตเพื่อรองรับการปรับโฉมรถรุ่นใหม่

เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) การผลิตลดลง 15.97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการประสบภาวะซบเซาของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ยุโรป กอปรกับการที่ลูกค้าสำคัญได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับในไตรมาส 4/59 อุตสาหกรรมหลักสำคัญที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น IC เป็นต้น เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น, อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตเพิ่มขึ้นในสินค้าสำคัญ เช่น ข้าวและธัญพืชผักและผลไม้และปศุสัตว์, อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ แต่จะลดลงทั้งในกลุ่มผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้า และการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านเพราะฝีมือ

"ตอนนี้ความได้เปรียบของไทยไม่เหลือแล้วยกเว้นเรื่องทักษะ ที่ต้องการความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการผลิตสิ่งทอมูลค่าสูงๆ ต้องมีการดีไซน์ แต่เรื่องต้นทุนการผลิตต่างๆของประเทศเพื่อนบ้านเหนือกว่าเราหมดแล้ว"รองผู้อำนวยการ สศอ.กล่าว

ขณะที่ คาดว่า MPI ทั้งปีจะยังขยายตัว 1-2% ซึ่งลดลงจากที่เคยคาดว่าจะได้ 2-3% เพราะมีการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้า โดยหากช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี MPI โตเฉลี่ยระดับ 3% ต่อเดือน เพราะดูจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่เริ่มดีขึ้นจึงมีแนวโน้มว่าน่าจะมีการขยายผลิต

ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมทั้งปี ยังเป็นไปตามคาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% และยังไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยกังวลแต่ก็หวังว่าจะไม่เกิดภาวะน้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54

ส่วนกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ มองว่า ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยเป็นการชี้ชัดว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว และจะส่งผลดีเนื่องจากปัจจุบันค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าจากการที่อังกฤษลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งกดดันการส่งออกของไทย เพราะเงินทุนไหลมาทางภูมิภาคเรามากจากความไม่แน่นอนของอียู แต่ถ้าสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยเงินทุนจะไหลกลับไป ค่าเงินที่แข็งค่าก็จะอ่อนค่าลงและส่งเสริมการส่งออกของเรา

ส่วนศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายวีรศักดิ์ มองว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกหากชัยชนะยังเป็นของพรรคเดโมแครตนโยบายต่างๆก็คงไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นสถานการณ์พลิกมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจการค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ