(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุเศรษฐกิจ ส.ค.ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาโต-ส่งออกฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 30, 2016 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผย เศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค.59 ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวดีทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน และการส่งออกสินค้าขยายตัวในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งผลให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องปรับดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ และกระจุกตัวอยู่ในภาคบริการเป็นหลัก

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในช่วงก่อนหน้า ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงบ้าง เนื่องจากได้รับผลกระทบชั่วคราวจากเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ โดยมีผลทั้งในส่วนของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และการใช้จ่ายหมวดบริการของคนไทย

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสด โดยเฉพาะผลไม้ที่ผลผลิตถูกกระทบจากภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ยังดี และมูลค่าการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้มีโอกาสดีขึ้นจากที่คาดหดตัว -2.5% หลังจากเดือนส.ค.ขยายตัวดีขึ้น แต่ยังไม่มีการทบทวนประมาณการ

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. ระบุว่า ในเดือนส.ค.การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวดีหลังจากแผ่วลงในเดือนก่อน ทั้งรายจ่ายประจำตามรายจ่ายเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ และการซื้อสินค้าและบริการ และรายจ่ายลงทุน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างด้านคมนาคม สาธารณสุข และสถานศึกษา ด้านรายได้ของรัฐหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนแต่เป็นเพราะการเร่งนำส่งค่าภาคหลวงปิโตรเลียมไปแล้วในเดือนที่ผ่านมา ขณะที่รายได้จากภาษีขยายตัวได้ตามฐานภาษีการบริโภคในกลุ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นสำคัญ สอดคล้องกับปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น

การลงทุนภาคเอกชนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่มีทิศทางปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ การลงทุนยังคงกระจุกตัวอยู่ในภาคบริการเป็นสำคัญ อาทิ โทรคมนาคม และภาคค้าปลีก ขณะที่การลงทุนในภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่พอสมควร สอดคล้องกับการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านตราสารหนี้ตราสารทุนและปริมาณสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นในภาคบริการ แต่ยังคงหดตัวสำหรับภาคการผลิต

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 2.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งหากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกขยายตัว 5.0% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานในระยะเดียวกันปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและหมวดรถยนต์และชิ้นส่วนที่ผู้ประกอบการไทยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดยุโรป และหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับผลดีจากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมยังหดตัว เพราะผลของราคาน้ำมันดิบที่ต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน และหมวดสินค้าเกษตรกรรมหดตัวตามการส่งออกยางพาราจากผลของฐานสูง เนื่องจากในปีที่แล้วจีนปรับขึ้นภาษีการนำเข้ายางคอมปาวด์ ทำให้ผู้ประกอบการจีนหันมานำเข้ายางธรรมชาติทดแทน ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวในเดือนนี้สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว 3.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นผลของการปรับดีขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งหากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.6% ตามการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงยังคงหดตัวสูง

ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัว 9.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ในเดือนนี้ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบบ้างจากเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวบางส่วนเลื่อนการเดินทางออกไป ทำให้เมื่อปรับฤดูกาลแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง 3.1% จากเดือนก่อน ซึ่งเป็นการลดลงในเกือบทุกกลุ่ม

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนในอัตราที่ชะลอลงบ้างจากไตรมาสที่ 2 และเดือนกรกฎาคม ตามการใช้จ่ายในหมวดบริการเป็นสำคัญ เพราะในช่วงก่อนหน้านี้มีเทศกาลวันหยุดยาว ซึ่งทำให้มีการใช้จ่ายในหมวดโรงแรมและภัตตาคารค่อนข้างมาก ประกอบกับในเดือนนี้เหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวไทย สำหรับปัจจัยสนับสนุนการบริโภคโดยรวมยังไม่เข้มแข็งนัก แม้ในเดือนนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น แต่รายได้ที่แท้จริงของลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรมยังค่อนข้างทรงตัว และรายได้ของครัวเรือนเกษตรกรรมแม้ทยอยปรับดีขึ้นแต่ผลดียังจำกัดอยู่ในกลุ่มชาวสวนผลไม้บางกลุ่มที่ราคาผลผลิตปรับสูงขึ้น และพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงก่อนไม่มาก

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามราคาผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ โดยในเดือนนี้มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะไม่สูงย้ายเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมที่การผลิตและการส่งออกขยายตัวดีด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ยังดี ประกอบกับมูลค่าการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (TDI) ของภาคธุรกิจไทย รวมทั้งการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์และเงินฝากต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เงินทุนจากต่างประเทศยังไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายนานขึ้นของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ประกอบกับปัจจัยบวกในประเทศ ได้แก่ ผลการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ และตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ที่ดีกว่าที่ตลาดคาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ