สภาพัฒน์ เผย 6 เกาะไทยที่ยังไม่พัฒนาท่องเที่ยว ส่วนเกาะเสม็ด-เกาะล้าน เข้าข่ายพัฒนาระดับต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday October 2, 2016 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า การศึกษาโครงการสำรวจศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะทั่วประเทศ พบว่ายังมีเกาะ 6 แห่งในไทยที่ไม่มีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ เกาะลันตาน้อย (กระบี่) เกาะลิบง (ตรัง) เกาะระ (พังงา) เกาะศรีบอยา (กระบี่) เกาะทรายดำ (ระนอง) และเกาะฮั่ง (กระบี่ ) ขณะที่มีเกาะชื่อดังที่มีชื่อเสียงหลายแห่งที่อยู่ในข่ายที่พัฒนาการท่องเที่ยวมาตรฐานระดับต่ำ รวมถึงเกาะเสม็ด และเกาะล้าน ด้วย

ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวสืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.57 สั่งการให้มีการสำรวจและประเมินถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวในหมู่เกาะต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตัวอย่างจำนวน 33 เกาะ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยสภาพัฒน์ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการสำรวจและประเมินถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวในหมู่เกาะต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

สภาพัฒน์ ได้สรุปรายงานการศึกษาโครงการสำรวจศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะทั่วประเทศ พบว่า เกาะที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยว จำนวน 27 เกาะ ประกอบด้วย

1.กลุ่มที่พัฒนาการท่องเที่ยวมาตรฐานระดับสูง เกาะกูด เกาะช้าง (ตราด) เกาะยาวน้อย (พังงา) เกาะพะงัน (สุราษฎร์ธานี) มีจุดเด่น ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวหลากหลาย มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ สภาพสมบูรณ์ สวยงาม และโดดเด่น การเข้าถึงเกาะและแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะสะดวก เกาะตั้งอยู่บนเส้นทางท่องเที่ยวหลัก สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นได้ง่าย นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยสูง มีสถิติการเกิดเหตุอันตรายจากภัยธรรมชาติและอุบัติเหตุไม่บ่อยครั้ง

สามารถรองรับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวได้มาก ไม่เป็นพื้นที่เปราะบาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน มีการประสานความร่วมมือกันในการพัฒนาการท่องเที่ยว ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เช่น การเป็นเจ้าของกิจการ ร้านอาหาร ที่พัก ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจขนส่ง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์ มีการจัดการด้านการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม และคุณภาพของสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามพบว่า มีจุดด้อย ในสภาพธรรมชาติของพื้นที่มีความเสี่ยงในการถูกทำลาย พบปัญหาการขยายตัวของพื้นที่สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัย หนาแน่น และจัดระเบียบไม่เรียบร้อย โดยเฉพาะที่เกาะพะงันและเกาะช้าง และพบปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงทุกปีที่เกาะยาวน้อย

2. กลุ่มที่พัฒนาการท่องเที่ยวมาตรฐาน ระดับปานกลาง ประกอบด้วย เกาะกลาง (ฉะเชิงเทรา) เกาะหมาก (ตราด) เกาะลันตาใหญ่ เกาะไหง (กระบี่) เกาะเต่า เกาะสมุย เกาะนางยวน (สุราษฎร์ธานี) เกาะคอเขา เกาะพระทอง (พังงา) เกาะกาเบ็ง (สตูล) เกาะภูเก็ต พบว่า มีจุดเด่นคือ เกาะส่วนใหญ่มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวค่อนข้างหลากหลาย แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมีสภาพสมบูรณ์ สวยงาม และโดดเด่น ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่มีส่วนร่วมและได้ประโยชน์จากการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เช่น การเป็นเจ้าของกิจการ ร้านอาหาร ที่พัก ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจขนส่ง

ส่วนจุดด้อย พบว่า สภาพธรรมชาติของพื้นที่เกาะส่วนใหญ่มีความเสี่ยงจากการถูกทำลาย โดยเฉพาะจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงและการขยายพื้นที่อยู่อาศัย ขาดผลิตภัณฑ์ชุมชนที่หลากหลายและสะท้อนเอกลักษณ์ของพื้นที่

3. กลุ่มที่พัฒนาการท่องเที่ยวมาตรฐาน ระดับต่ำ ประกอบด้วย เกาะเสม็ด (ระยอง) เกาะล้าน (ชลบุรี) เกาะพยาม เกาะช้าง (ระนอง) เกาะสี่เกาะห้า (พัทลุง) เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะตะรุเตา เกาะหลีเป๊ะ (สตูล) เกาะปู (กระบี่) เกาะยาวใหญ่ (พังงา) พบว่า มีจุดเด่นคือ สภาพธรรมชาติของพื้นที่ค่อนข้างปลอดภัยจากการถูกทำลาย เนื่องจากเกาะส่วนใหญ่มีพื้นที่สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัยค่อนข้างจำกัด ยกเว้นเกาะล้าน เกาะเสม็ด และเกาะหลีเป๊ะ

ส่วนจุดด้อย พบว่า ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวไม่หลากหลาย เกาะส่วนใหญ่ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ชุมชนไม่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวเท่าที่ควร ไม่มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สะท้อนเอกลักษณ์ของพื้นที่ รายได้จากการท่องเที่ยวกระจายสู่พื้นที่อย่างจำกัด ขาดความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภค เช่น ด้านสาธารณสุข ไฟฟ้า ประปา ท่าเทียบเรือ การบริการข้อมูลข่าวสารแก่นักท่องเที่ยว การเดินทางเข้าถึงเกาะและแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะยังไม่สะดวก

นอกจากนี้ยังมีเกาะที่ไม่มีการพัฒนาการท่องเที่ยว อีก 6 เกาะ เป็นกลุ่มเกาะที่ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือยังไม่มีการพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยอาจมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ประเด็นด้านความมั่นคงหรือเข้าถึงได้ยาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกาะขนาดกลางหรือขนาดเล็ก สภาพในพื้นที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ โดยประกอบด้วย

1. เกาะลันตาน้อย (กระบี่) เกาะลิบง (ตรัง) เกาะระ (พังงา) พบว่า มีจุดเด่น คือสภาพธรรมชาติของพื้นที่ค่อนข้างปลอดภัยจากการถูกทำลาย เนื่องจากมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัยค่อนข้างจำกัด การเข้าถึงเกาะและแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะสะดวก มีการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ ช่วยป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งธรรมชาติหรือพื้นที่ที่มีความเปราะบาง มีการจัดการพื้นที่สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวได้อย่างเรียบร้อยและเป็นระเบียบ

2.เกาะศรีบอยา (กระบี่) เกาะทรายดำ (ระนอง) พบว่ามีจุดเด่น คือ สภาพธรรมชาติของพื้นที่ค่อนข้างปลอดภัยจากการถูกทำลาย เนื่องจากมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัยค่อนข้างจำกัด นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยสูง มีสถิติการเกิดเหตุอันตรายจากภัยธรรมชาติและอุบัติเหตุไม่บ่อยครั้ง

3. เกาะฮั่ง (กระบี่ )พบว่ามีจุดเด่น คือ สภาพธรรมชาติของพื้นที่ค่อนข้างปลอดภัยจากการถูกทำลาย เนื่องจากมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัยค่อนข้างจำกัด

อย่างไรก็ตาม จุดด้อยในกลุ่ม“เกาะที่ไม่มีการพัฒนาการท่องเที่ยว" ทั้ง 6 เกาะ พบว่า ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวไม่หลากหลาย มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติจำกัดและไม่โดดเด่น ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ มีที่ตั้งค่อนข้างโดดเดี่ยว เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นได้ยาก พื้นที่สามารถรองรับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวได้จำกัด การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อพัฒนาการมีจำกัด ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมและได้ประโยชน์อย่างจำกัดจากการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ขาดการให้ความรู้และการสร้างจิตสำนักที่ดีแก่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะกรณีศึกษา ได้คัดเลือกเกาะที่เป็นตัวแทน 3 เกาะเพื่อสะท้อนระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน ได้แก่ เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเกาะที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยวสูง เกาะพยาม จังหวัดระนอง เป็นเกาะที่มีระดับการพัฒนาการท่องเที่ยวปานกลาง และเกาะพระทอง จังหวัดพังงา เป็นเกาะที่การพัฒนาการท่องเที่ยวเพิ่งเริ่มต้น โดยเมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมในมิติต่างๆ สามารถระบุจุดเด่น และจุดด้อย ที่แสดงคุณลักษณะที่สำคัญของเกาะที่เป็นกรณีศึกษา

จากการศึกษาทั้ง 2 ระดับ จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเกาะในภาพรวม เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะทั่วประเทศ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ให้แหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะของไทยมุ่งสู่การเป็น “เกาะท่องเที่ยวที่มีชีวิตแห่งเอเชีย (Islands of Thailand, the Vitality of Asia) ซึ่งแนวทางการพัฒนาดังกล่าว ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัว 2. การฟื้นฟูและป้องกัน 3.การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมของการมีส่วนร่วม 4.การบริหารจัดการด้านท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ และ 5.การส่งเสริมภาพลักษณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ