นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ระบุถึงมุมมองเศรษฐกิจไตรมาส 4/59 ว่า ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้เศรษฐกิจแม้คาดว่าจะดูดีขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านๆ มา แต่ก็ยังคงต้องเผชิญมรสุมปัจจัยเสี่ยงที่โดยมากมาจากต่างประเทศ โดยรวมยังเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกและไทยยังไม่เกิดวิกฤติอันใกล้ เพียงแต่มีแรงกดดันเป็นช่วง ๆ ไป ทำให้การเติบโตยังต่ำกว่าศักยภาพ โดยเฉพาะการค้าโลกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี มองว่านี่คือกระบวนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลก เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างสวยงามอีกครั้ง
สำหรับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอในประเทศนั้น เริ่มเห็นสัญญาณว่าปัญหากำลังทุเลาลงในไตรมาส 4/59 โดยเฉพาะการบริโภคระดับฐานรากในภาคเกษตรเริ่มฟื้นตัว หลังปัญหาที่เคยมีต่อเนื่องมานานเริ่มคลี่คลาย ดังเห็นได้จากราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับสูงขึ้น ปัญหาภัยแล้งได้หมดไป การซื้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำกำลังซื้อของคนรายได้น้อยเริ่มดีขึ้นต่อเนื่องหลายเดือน แม้จะมองว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4/59 น่าจะดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สดใสเสียทีเดียว นั่นเป็นเพราะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งยังคงกดดันภาพรวมอีกระยะหนึ่ง
แต่ที่ห่วงที่สุดคือการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนนั้นหดตัวมาสามปีซ้อน อีกทั้งการลงทุนแทบไม่โตในไตรมาส 2/59 ตัวเลขดัชนีการลงทุนต่างๆ ในช่วงไตรมาส 3/59 ที่ยังคงอ่อนแอ การลงทุนจากต่างประเทศแทบไม่มีให้เห็นมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำลังการผลิตยังอยู่ในระดับที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติม แต่อีกส่วนเพราะความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นักลงทุนยังรอความชัดเจนทางการเมืองแม้รัฐธรรมนูญได้ผ่านประชามติแล้วก็ตาม แต่ยังคงรอความชัดเจนของช่วงเวลาการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าหรือไม่
การลงทุนที่ชะลอลงนี้สะท้อนให้เห็นถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่โตช้ามาก จึงมองการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 4/59 ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และน่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่จะฟื้นตัวและเริ่มลงทุนเร็วกว่ากลุ่ม SMEs ที่ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวช้า
ด้านการส่งออก มองว่าเรายังมีความเสี่ยงที่การส่งออกจะติดลบได้อยู่ในช่วงไตรมาส 4/59 จากทั้งปัญหาการขาดการลงทุนของไทย ที่ทำให้เอกชนไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมต่อยอดห่วงโซ่อุปทานตลาดโลกได้ และจากความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปัญหาธนาคารพาณิชย์ในยุโรป และที่สำคัญคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่มีปัญหาฟองสบู่และหนี้ในภาคธุรกิจที่สูง ซึ่งจะกระทบทั้งการส่งออกของไทยไปจีนและไปอาเซียนได้ เพราะอาเซียนก็เป็นห่วงโซ่อุปทานให้จีนอีกทอด หากจีนชะลอ อาเซียนก็ชะลอตาม
โดยสรุป ได้ปรับมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากเดิมที่มองเป็นรูปตัว L มาเป็นตัว U แม้ขณะนี้เราเพิ่งจะผ่านจุดต่ำสุด แต่ก็ยังคงอยู่ที่ฐานล่างของตัว U ซึ่งผมมองว่าน่าจะเป็นช่วงกลางปีหน้าที่การฟื้นตัวจะเร่งตัวเสมือนหางของตัว U ที่ตวัดขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ราว 3.2% ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ส่งผลให้ทั้งปี 59 นี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.3% และจะเร่งตัวขึ้นไปสู่ระดับ 3.5% ได้ในปี 60
ส่วนดอกเบี้ยคาดว่าจะคงที่ในระดับ 1.5% เช่นนี้ลากยาวไปถึงปลายปีหน้า ขณะที่เงินบาทคาดจะอยู่ในทิศทางอ่อนค่าเทียบดอลลลาร์สหรัฐ โดยเราคงประมาณการค่าเงินบาทไว้ที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ในปลายปีนี้ จากเงินไหลออกในช่วงเฟดขึ้นดอกเบี้ยกลางเดือนธันวาคม และระดับ 37 บาท/ดอลลาร์ ในปีหน้า
"เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญลมฝนในช่วงไตรมาสที่สี่ แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะการปรับตัวนั้นใช้เวลา แต่อย่างน้อยการฟื้นตัวในรอบนี้เริ่มเด่นชัดขึ้น และผมยังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเร่งตัวขึ้นในปีหน้า หลังการบริโภคขยับขึ้น การลงทุนเอกชนเริ่มมาหลังความเชื่อมั่นฟื้น และเศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพ ขณะที่การลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักต่อไป เสมือนสายรุ้งที่กำลังมาเยือนเศรษฐกิจไทยในปี 60"นายอมรเทพ ระบุ