พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในปี 60 การขับเคลื่อนด้านพลังงานจะยังอยู่ในกรอบแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว โดยในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ในด้านการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจะมุ่งเน้นการกระจายเชื้อเพลิงและกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในระดับที่เหมาะสม โดยจะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงเหลือ 59.4% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จากเดิมในปี 59 ใช้อยู่ที่ 64.5% และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 9.6% ซึ่งเดิมในปี 59 ใช้เพียง 6.4% รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลงเหลือ 16.8% ซึ่งเดิมในปี 59 ใช้อยู่ที่ 18.6%
ด้านแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) จะเร่งรัดให้มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีใบอนุญาตแล้ว (PPA) จำนวน 9,327.15 เมกะวัตต์ในปี 60 การส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนในด้านผลิตพลังงานความร้อน โดยพิจารณาแนวทางสนับสนุน (Heat Incentive) ในเป้าหมายจำนวน 7,115.10 kto (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ส่งเสริมให้มีการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนเพิ่มขึ้น อาทิ เอทานอล 3.84 ล้านลิตร/วัน และไบโอดีเซล 3.67 ล้านลิตร/วัน ในปี 60
รมว.พลังงาน กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงพลังงานจะต้องเร่งดำเนินการในปี 60 แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.เรื่องเร่งด่วนในเชิงปฏิบัติ อาทิ พลังงานทดแทนให้เป็นไปตามเป้า และ 2.เรื่องโรงไฟฟ้าที่จะต้องเพียงพอต่อความต้องการใช้, ปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะต้องเพียงพอ รวมทั้งต้องมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมด้วย
ส่วนความคืบหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งล่าช้ากว่าแผน 2 ปีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี เตรียมสรุปเหตุผลข้อดีและข้อเสียในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งจะเสนอนายกรัฐมนตรีภายในเดือนต.ค.นี้ จากกระทรวงพลังงานจะนำเหตุผลมาตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่ ภายใน 1-2 เดือนนี้ จากนั้นจะเสนอนายกรัฐมนตรีตัดสินใจอีกครั้ง
ขณะที่การหาผู้ดำเนินการผลิตปิโตรเลียมสำหรับแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 65-66 นั้น ได้รับมติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมา ให้ขยายระยะเวลาในการคัดเลือกผู้ดำเนินการเป็นเดือนก.ย.60 ซึ่งจะต้องได้รายชื่อผู้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช โดยจะต้องการให้ดำเนินการภายในรัฐบาลชุดนี้
สำหรับการดำเนินงานก้าวสู่ปีที่ 15 ของกระทรวงพลังงาน รมว.พลังงาน กล่าวว่า จะร่วมกันขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 สอดรับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ภายใต้กรอบแผน 5 เสาหลัก ซึ่งในปี 60 การขับเคลื่อนด้านพลังงานจะยังอยู่ในกรอบแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว โดยนอกจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ในด้านการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจะมุ่งเน้นการกระจายเชื้อเพลิงและกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในระดับที่เหมาะสม รวมถึงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกแล้วนั้น กระทรวงก็จะเร่งในการในการดำเนินงานแผนงานต่าง ๆ ได้แก่
แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) จะเดินหน้าเรื่องบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ การส่งเสริมการแข่งขันจัดหาแอลเอ็นจีแบบเสรีและศึกษาแนวการกำกับดูแลด้านแอลเอ็นจี การติดตามแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติและการสร้าง LNG Terminal ให้เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการ รวมถึงการลงพื้นที่สร้างเครือข่าย และทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจและการมีส่วน
แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) จะดำเนินโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อซึ่งจะเริ่มสร้างท่อส่งน้ำมันสายเหนือในปี 2559 และสายอีสานในปี 2561 การลดชนิดน้ำมันในกลุ่มเบนซินให้เหลือ 4 ชนิดในปี 2561 การศึกษาการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะสรุปผลการศึกษาเสนอต่อที่ประชุมกพช. ในช่วงเดือนก.ย.60 การผลักดันเรื่องการเปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจีให้เป็นรูปธรรม
แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) จะลดความเข้มการใช้พลังงานลง 8.20 ktoe ต่อพันล้านบาท หรือ คิดเป็น 3.98% โดยจะเร่งดำเนินการในมาตรการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับโรงงานและอาคารควบคุม และมาตรการอุดหนุนผลการประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ประกอบด้วย โรงงานอุตสาหกรรม 5,500 แห่ง อาคาร 2,000 แห่ง และอาคารภาครัฐ 850 แห่ง โดยมีเป้าหมายการลดใช้พลังงาน จำนวน 314 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) พร้อมทั้งการผลักดันและส่งเสริมมาตรฐาน Building Code สำหรับอาคารใหม่ เพื่อผลักดันการบังคับใช้ในอาคารขนาดหญ่ขนาดพื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร ในปี 2560 ซึ่งจะมีการตรวจประเมินและรับรองแบบอาคารใหม่ จำนวน 150 อาคาร และการศึกษามาตรฐานพลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัย (Residential Energy Code : REC) โดยจะสำรวจข้อมูลบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จำนวน 1,500 ตัวอย่าง และจัดทำต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน 12 แบบ
“นอกเหนือจากการขับเคลื่อนเรื่อง Energy 4.0 แล้ว เป้าหมายด้านพลังงานในอนาคต กระทรวงพลังงานจะผลักดันให้เกิดมิติที่ผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานใช้เองได้และมีความหลากหลายทางเชื้อเพลิง พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการลงทุนการแข่งขันในธุรกิจพลังงานอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมถึงสร้างชุมชนเมืองให้เป็น Smart City Smart Home มุ่งสู่สังคมสีเขียวด้วยพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25%" รมว.พลังงาน กล่าว