นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของเทคโนโลยี FinTech ในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต โดยเฉพาะการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยบ้างแล้ว ได้แก่ ระบบ Alipay ระบบการชำระเงินแบบ Contactless อย่างเช่น การใช้บัตร Rabbit โดยเป็นการให้บริการแบบ P2P โดยไม่ผ่านตัวกลาง คือ ธนาคาร ซึ่งคาดว่าในอนาคตมีความนิยมใช้มากขึ้น
การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยจะมีการเติบโตอย่างมาก ตามจำนวนโทรศัพท์มือถือที่เติบโตเร็วกว่าจำนวนประชากร ซึ่งเป็นในลักษณะเดียวกับภูมิภาค ทำให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ เล็งเห็นถึงโอกาสจากการเป็นตลาดที่ใหญ่ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี FinTech ออกมาเพื่อเจาะตลาดในประเทศไทยและในภูมิภาคมากขึ้นในอนาคต เพราะเชื่อว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกมาก
หากเปรียบเทียบการนำเทคโนโลยี FinTech มาใช้ของประเทศไทยเทียบกับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้เทคโนโลยี FinTech เป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศสิงคโปร์และมาเซีย โดยในปัจจุบันกระแส FinTech ในประเทศไทยมาแรงอย่างมาก และทุกภาคส่วนได้ให้ความสนใจและตื่นตัวมี่จะนำเทคโนโลยี FinTech มาประยุกต์ใช้
แนวโน้มเทคโนโลยี FinTech ที่จะมีบทบาทในตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศไทยมองว่าจะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นไนช่วง 12-24 เดือนนี้ ที่ทุกคนต่างศึกษาและเริ่มลงทุนในการนำเทคโนโลยี FinTech มาใช้ ซึ่งส่งผลให้เทคโนโลยี FinTech มีการเคลื่อนไหวอย่างมากและเคลื่อนไหวตลอดเวลาในช่วงนี้ โดยมีธุรกิจต่างๆให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้พัฒนาระบบเทคโนโลยี FinTech ที่เป็น Start up อย่างเช่น การจัดตั้ง Venture Capital ของธุรกิจเพื่อมาสนับสนุน อีกทั้งการเข้าไปซื้อกิจการของผู้พัฒนาเทคโนโลยี FinTech ซึ่งการลงทุนในเทคโนโลยี FinTech ช่วยให้ธุรกิจมีการบริการลูกค้าได้ดีขึ้นและช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลงในการให้บริการทางการเงินและการลงทุนของผู้ประกอบการ
"จะเห็นว่าปัจจุบันกระแส FinTech มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาและมีคนให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เห็นแบงก์ในประเทศเกือบทุกแบงก์ให้ความสนใจใน FinTech อย่างมาก และมีการตั้ง Venture Capital เพื่อสนับสนุน FinTech ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Start up เพื่อเป็นการร่วมมือกัน เพราะมองว่า FinTech จะเริ่มเข้ามาเจาะตลาดการให้บริการของผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการที่ดี และ FinTech ทำได้ดีกว่าที่เขาทำ เพราะ FinTech สามารถพัฒนาบริการที่ปรับตัวได้เร็ว เข้าใจง่าย และตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ"นางสาววิไลพร กล่าว
ปัจจุบัน เทคโนโลยี FinTech ในประเทศไทยจะมีบทบาทอย่างมากมากในการให้บริการ 2 ประเภท ได้แก่ การบริการของธนาคาร (Banking) และการบริการชำระเงิน (Payment) จากทั้งหมด 4 ประเภท เพราะยังไม่เห็นการนำ FinTech มาใช้ในการให้บริการการลงทุนและการให้บริการด้านประกัน แต่ก็คาดว่าจะได้เห็นการนำมาประยุกต์ใช้ในอนาคต
ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยี FinTech มาใช้ในการให้บริการลงทุนจะต้องมีการพัฒนาเรื่องระบบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ความน่าเชื่อ และการควบคุมธุรกรรมการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยจะต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนที่จะต้องร่วมกันพัฒนา โดยหน้าที่ของผู้ที่จะพัฒนาเรื่องกฏระเบียบและการกำกับควบคุมธุรกรรมการลงทุน (Regulator) จะต้องเป็นผู้พัฒนา Sandbox ที่นิยมใช้ในต่างประเทศสำหรับการดูแลควบคุม Transaction การทำธุรกรรมการลงทุนให้เป็นไปตามกฏระเบียบ
ขณะที่ในประเทศไทยนั้น ผู้ที่ทำระบบการกำกับควบคุมการทำธุรกรรมทางการเงิน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำระบบการกำกับควบคุมการทำธุรกรรมทางการเงิน