นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมเปิดเผยภายหลังประชุมโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟสายขอนแก่น-ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 516 กม.ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้นำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า โดยจะให้ภาคเอกชนให้บริการเดินรถขนส่งสินค้าด้วยระบบไฟฟ้า
รวมทั้งเตรียมขออนุมัติดำเนินโครงการฯ ในรูปแบบร่วมทุน PPP Net Cost Concession โดยภาครัฐลงทุนงานทางระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล ภาคเอกชนลงทุนขบวนรถไฟฟ้า อู่จอดและซ่อมบำรุง ในระยะเวลา 30 ปี พร้อมเงื่อนไขในการต่ออายุสัมปทานอีก 30 ปี ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ให้ รฟท.กลับไปทำข้อมูลเพิ่มเติมให้เป็นไปตามมาตรา 24 ในหลายเรื่อง อาทิ การวิเคราะห์ต้นทุน ผลตอบแทน วิเคราะห์ปริมาณสินค้าที่จะมาจากเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 354 กม.และเส้นทางชุมทางถนนจิระ (นครราชสีมา) -อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. เป็นเส้นทางจากอีสานตอนใต้ ที่จะมาป้อนเส้นทางดังกล่าว วิเคราะห์ปริมาณความต้องการการขนส่งสินค้าทางรางที่ขณะนี้มีเอกชนเสนอตัวไว้รายเดียว ต้องประเมินปริมาณสินค้าว่ามีมากเพียงพอที่จะให้เอกชนหลายรายเข้ามาให้บริการหรือไม่
ทั้งนี้ ให้ รฟท.เสนอกลับมาให้ทางกระทรวงพิจารณาอีกครั้งใน 60 วัน ก่อนเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ต่อไป
นอกจากนี้ จากการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) มีเอกชนเสนอให้ขยายเส้นทางจากขอนแก่นไปถึงหนองคาย ระยะทางประมาณ 160 กม. เพื่อให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น ทั้งนี้ ในการเดินรถขนสงสินค้าจะใช้รถระบบรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการ ดังนั้น การจัดสรรทางระหว่างการขนส่งสินค้าและขนส่งผู้โดยสาร
"รฟท.จะต้องศึกษารายละเอียดชัดเจน ซึ่งรูปแบบ PPP จะต้องเปิดกว้าง ไม่ใช่เจรจากับรายใดรายหนึ่ง การให้เอกชนร่วมลงทุนขนส่งสินค้า เพราะมีปริมาณสินค้ามาก หรือว่าต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ราง ตรงนี้ต้องชัดเจน ซึ่ง ต้องยอมรับว่า รฟท.มีขีดความสามารถด้านการตลาดการหาลูกค้าไม่เท่าเอกชนแน่นอน"นายอาคม กล่าว