ครม.เห็นชอบหลักการ"พิโกไฟแนนซ์" เพิ่มช่องทางเข้าถึงสินเชื่อ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ คาดช่วยลูกหนี้กว่า 2.4 แสนราย/ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 4, 2016 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการของการบริหารเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยได้จัดตั้งให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ หรือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (พิโกไฟแนนซ์) เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อให้ลูกหนี้นอกระบบและประชาชน

โดยมีการกำหนดทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้กับบุคคลธรรมดาทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี โดยจะต้องปล่อยกู้เฉพาะจังหวัดที่ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์จัดตั้งเท่านั้น เพื่อจะรับทราบถึงข้อมูลลูกหนี้ได้อย่างชัดเจนกว่า เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดผิดนัดชำระหนี้ และป้องกันไม่ให้มีการกู้ยืมเงินเกินควร โดยจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

โดยพิโกไฟแนนซ์ที่จัดตั้งขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ หรือนาโนไฟแนนซ์ ที่ปล่อยกู้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี แต่ได้พบปัญหาว่าประชาชนเข้าถึงสินเชื่อยาก เพราะต้องมีหลักประกัน เนื่องจากลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ป้องกันไม่ให้เกิด NPL โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ที่ได้รับอนุญาต 29 ราย เปิดบริการแล้ว 20 ราย ปล่อยกู้ทั้งระบบ 2.24 หมื่นราย วงเงิน 556 ล้านบาท

สำหรับเจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้หนี้นอกระบบที่เรียกคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 15% ต่อปี หากไม่มาจดทะเบียนเป็นพิโกไฟแนนซ์หรือนาโนไฟแนนซ์ ก็จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย โดยจะมีโทษทั้งจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายณัฐพร กล่าวด้วยว่า จะให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) เพื่อรับผิดชอบภารกิจด้านการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยเฉพาะ โดยให้ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ซึ่งมีหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อผ่อนปรนกว่าหลักเกณฑ์ปกติ โดยมาตรการดังกล่าวจะแยกบัญชีออกมาเป็นนโยบายภาครัฐ (PSA) ซึ่งจะไม่นับรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPA) มาประกอบเป็นดัชนีชี้วัดประเมินผลงานองค์กร (KPI)

พร้อมกันนี้ ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.จะมีจุดรับคำปรึกษา และประสานไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบ และจะพิจารณาสินเชื่อตามศักภาพของลูกหนี้นอกระบบแต่ละรายต่อไป นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบให้สามารถหารายได้ฟื้นฟูอาชีพให้มีความสามารถในการชำระหนี้ และจะต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินกับประชาชนฐานราก

อนึ่ง ลูกหนี้นอกระบบทั่วประเทศในปัจจุบันอยู่ที่ 1.185 ล้านคน มูลหนี้ประมาณ 1.23 แสนล้านบาท และตั้งเป้าหมายช่วยเหลือลูกหนี้จากมาตรการทั้งหมดประมาณ 20% ต่อปี หรือจำนวน 2.4 แสนรายต่อปี มูลหนี้ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ