รองเลขาฯ กสทช.แจงสาระสำคัญ กม.ฉบับใหม่ ปรับโครงสร้าง-อำนาจหน้าที่สอดคล้องนโยบายเศรษฐกิจดิจิตัล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 4, 2016 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) สายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค ในฐานะอนุกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ.... กล่าวว่า พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ ผ่านหลักการวาระที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2 คาดว่าน่าจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ได้ภายในปี 59

สาระสำคัญของ พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ คือ การเพิ่มเติมในเรื่องของหลักการดำเนินงานของ กสทช. ให้สอดคล้องกับนโยบายด้านเทคโนโลยีของประเทศภายหลังจากที่มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (DE) และ การเปลี่ยนแปลงที่มาของกรรมการ กสทช.

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลง 16 หลักการ เช่น ที่มาและองค์ประกอบของ กสทช. จากเดิมมีอยู่ทั้งหมด 11 คน แต่คณะกรรมการชุดใหม่จะลดลงเหลือ 7 คน ประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ได้แก่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม วิศวกรรม กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และการคุ้มครองผู้บริโภค

คุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัคร กสทช. จะต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และมีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี จากเดิมกำหนดไว้จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และไม่เกิน 70 ปี อีกทั้งกำหนดคุณสมบัติทั่วไปเพิ่มเติมอีก เช่น ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการตังแต่ระดับกรมขึ้นไป หรือมีตำแหน่งทางวิชาการต้องสูงกว่ารองศาสตราจารย์ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็น/เคยเป็นนายทหารหรือนายตำรวจที่มียศตั้งแต่พลโท พลอากาศโท พลเรือโท หรือพลตำรวจโท ขึ้นไป หรือเคยเป็นผู้บริหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปีในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท หรือมีประสบการณ์ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

ส่วนที่มาของการพิจารณาคัดเลือก กสทช. มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิม กสทช.ที่มาจะมาจาก 2 ส่วน คือ ให้สมัครและมีกรรมการคัดสรร และเลือกกันเองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของผู้ประกอบการด้านต่างๆ จากนั้นก็จะให้วุฒิสภาพิจารณาเลือกอีกครั้งหนึ่ง แต่ที่มาตามกฎหมายฉบับใหม่ จะเหลือเฉพาะมาจากคณะกรรมการคัดสรรเท่านั้น และให้วุฒิสภาเลือกตามเดิม

รองเลขาธิการกสทช. กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของกสทช.ที่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ คือ การจัดทำแผนแม่บท และการมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้อนุญาตแทน กสทช. เฉพาะการอนุญาตในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคม รวมถึง กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากลับมาจัดสรรได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด แต่ก็ต้องมีวิธีทดแทนชดใช้หรือจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณีด้วย ต่างจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดเรื่องการเรียกคืนคลื่นความถี่ก่อนจะหมดอายุสัญญาสัมปทานดังกล่าว

พร้อมกันนี้ ยังมีเรื่องของการอนุญาตจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามกฎหมายเดิมกำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นการประมูลเท่านั้น ซึ่งก็ได้มีการเพิ่มขึ้นใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ใน 3 เงื่อนไข ที่อาจจะไม่ต้องมีการใช้วิธีการประมูลแบบเดิมก็ได้ คือ หากคลื่นความถี่นั้นมีจำนวนไม่จำกัด , หากคลื่นความถี่นั้นใช้ร่วมกับกิจการอื่นได้ และในกิจการที่ กสทช.พิจารณาและกำหนด อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการเสนอในชั้นกรรมาธิการวาระที่ 2 ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติในขณะนี้

ขณะเดียวกัน ยังมีการยกร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกำหนดให้มีการนำเงินที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. 2 ส่วน คือ 1. เงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ให้ กสทช. นำส่งรายได้เข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กองทุน DE จำนวน 25% ส่วนที่เหลือให้นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน จากเดิมเงินส่วนนี้จะเข้าเป็นรายได้แผ่นดินทั้ง 100%

และ 2. รายได้ประจำของสำนักงาน กสทช. ที่มาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และผลประโยชน์อื่น ๆ จากเดิมเข้าเป็นรายได้ประจำของสำนักงาน กสทช. 100% ก็ต้องนำส่งเข้ากองทุน DE จำนวน 25% ส่วนที่เหลือจึงเป็นรายได้ของสำนักงาน กสทช.

พล.อ.ต.ธนพันธุ์ กล่าวว่า การดำเนินการของ กสทช. ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายใหม่จะต้องสอดคล้องกับนโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย กสทช.ยังคงมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ

"ถ้าหากพ.ร.บ.นี้ผ่าน หรือเป็นไปตามที่เสนอ ทางสำนักงาน กสทช.ก็อาจจะมีการพิจารณาปรับโครงสร้างของสำนักงานเพื่อให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.กสทช.ใหม่ ซึ่งประชาชน หรือผู้ประกอบการ ก็น่าจะได้รับประโยชน์ เช่น การอนุญาต การร้องเรียน ที่น่าจะมีความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น"พล.อ.ต.ธนพันธุ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ