นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า จากอัตราการใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ของผู้โดยสารที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งจากสถิติผู้โดยสารปี 58 และ 59 พบว่าเพิ่มขึ้น 10.08% รวมทั้งนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้ได้เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ
ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับอัตราผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้นและสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการโครงการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ภายในขบวนรถไฟฟ้าด่วน (เอ็กซ์เพรส) 4 ขบวน ให้มีที่นั่งผู้โดยสาร และราวจับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ขบวนรถไฟฟ้าเอ็กซ์เพรสสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 340 คน/ขบวน เพิ่มเป็น 740 คน/ขบวน หรือเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 61,500 คน/วัน เป็น 72,000 คน/วัน
ทั้งนี้ บริษัทดำเนินการปรับเปลี่ยนทีละขบวนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้บริการของผู้โดยสาร ส่วนอุปกรณ์ภายในขบวนที่มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมนอกจากเก้าอี้นั่ง และราวจับ ได้แก่ การเปลี่ยนวัสดุปูพื้น มีการย้ายที่ติดตั้งถังดับเพลิง การเพิ่มพื้นที่ยึดสำหรับรถวีลแชร์ของผู้ทุพพลภาพ รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ส่วนขบวนรถไฟฟ้าด่วนอีก 3 ขบวนนั้นคาดว่าจะปรับเปลี่ยนแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.59 โดยเชื่อมั่นว่าโครงการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ภายในขบวนรถไฟฟ้าด่วน (เอ็กซ์เพรส) 4 ขบวน จะสามารถช่วยรองรับความต้องการใช้บริการ และเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับตอนนี้ทำการปรับเปลี่ยนภายในขบวนรถไฟฟ้าเอ็กซ์เพรสแล้ว 1 ขบวน ซึ่งความสะดวก และปลอดภัยตามนโยบายของคณะกรรมการบริษัทอย่างเคร่งครัด โดยผ่านการตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยถึง 3 ขั้น เริ่มต้นจากวิศวกรควบคุมงานที่มีทั้งวิศวกรชาวไทย และวิศวกรชาวต่างชาติคอยควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การปรับเปลี่ยน และติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆภายในขบวนรถไฟฟ้าด่วนเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล
นอกจากนั้น บริษัทยังได้จัดตั้งคณะกรรมการประเมินความเสี่ยง และคณะกรรมการระบบบริหารงานความปลอดภัยขึ้นมาตรวจสอบการดำเนินงานปรับเปลี่ยนภายในขบวนรถไฟฟ้าด่วน โดยได้ทำการตรวจสอบความเสี่ยงของอุปกรณ์ใน 3 หัวข้อ คือ
1.การตรวจสอบสภาพที่มองเห็นและสัมผัสได้ (Appearance Check) ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าไม่มีส่วนมีคม ส่วนที่จะหลุด ตก หล่น และมีการยึดติดด้วยความมั่นคง
2.การประเมินความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัย โดยวิธี Preliminary Hazard Analysis พบว่าทุกข้ออยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับความเสี่ยงได้
3. การตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุ พบว่ามีมาตรฐาน Railway Safety (DIN 5510) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับทดสอบวัสดุอปกรณ์ของประเยอรมันนี
ขณะที่คณะกรรมการประเมินความเสี่ยง และคณะกรรมการระบบบริหารงานความปลอดภัย ยังได้ทดสอบระบบการเดินรถ ได้แก่ ทดสอบเบรคห้ามล้อ ทดสอบการจอดตามจุดจอดที่ชานชาลาสถานี และทดสอบความเร็ว ความเร่งตาม Target Speed ซึ่งผลการทดสอบอยู่ในเกณฑ์ผ่านมาตรฐานทุกระบบ
ส่วนขั้นสุดท้ายของการตรวจสอบด้านความปลอดภัย บริษัทฯได้ร่วมกับ สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนน และระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร ทำการทดสอบขบวนรถไฟฟ้าด่วนด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ชุดทดสอบสรรถนะของขบวนรถไฟฟ้า แล้วนำขึ้นวิ่งทดสอบจริง ซึ่งปรากฏว่าขบวนรถไฟฟ้าด่วนที่ดำเนินการปรับเปลี่ยนภายในนั้นผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ความเร็วในการให้บริการในปัจจุบันและสามารถนำขึ้นให้บริการแก่ผู้โดยสารอย่างเต็มประสิทธิภาพ
และเนื่องจากในปี 59 นับเป็นโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี รวมถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ดังนั้นบริษัทฯจึงได้ประดับตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถโดยรอบขบวนรถไฟฟ้า