นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เป็นประธานว่า ที่ประชุม กบง.เห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนต.ค.59 ไว้ที่ 20.29 บาท/กก. และโดยปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่ม 0.1644 บาท/กก. จากเดิมเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.1567 บาท/กก. เป็นเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่ 0.3211 บาท/กก. และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป
หลังสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 437 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 47 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนกันยายน 2559 อ่อนค่าลงจากเดือนก่อน 0.0076 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 34.9014 บาท/เหรียญสหรัฐฯ แต่เนื่องจากราคาก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 37 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ 383 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ซึ่งปริมาณก๊าซ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนกว่า 64% ของความต้องการใช้ก๊าซ LPG ทั้งหมด ส่งผลให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหาก๊าซ LPG ทั้งระบบ ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (LPG Pool) ปรับตัวลดลง 0.1644 บาท/กก. จาก 13.1623 บาท/กก. เป็น 12.9979 บาท/กก.
ทั้งนี้ จากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายรับเพิ่มขึ้น 59 ล้านบาท/เดือน จาก 56 ล้านบาท/เดือน เพิ่มเป็นรายรับประมาณ 115 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2559 อยู่ที่ 41,690 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 7,462 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 34,228 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์การใช้ก๊าซ LPG ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 59 ตามข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่ามีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 503 พันตันต่อเดือน โดยมีการใช้ในแต่ละภาค ดังนี้ 1) ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนปริมาณการใช้มากที่สุดที่ประมาณ 174 พันตัน 2) ภาคปิโตรเคมีมีปริมาณการใช้รองลงมาอยู่ที่ประมาณ 145 พันตัน ซึ่งมีปริมาณการใช้ลดลงเนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเปลี่ยนไปใช้ แนฟทาในการผลิตปิโตรเคมีแทน LPG 3) ภาคขนส่งมีการใช้ประมาณ 124 พันตัน มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น และ 4) ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้ประมาณ 50 พันตัน
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. รับทราบการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการพัฒนาระบบการรายงานข้อมูลการผลิตและการใช้ไฟฟ้า แบบ Near Real Time เพื่อให้สามารถรายงานข้อมูลค่าพลังงานไฟฟ้าสูงสุดของประเทศที่เกิดขึ้นได้ทันที โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ระบบการรายงานข้อมูลด้านการผลิตและการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติมีความสมบูรณ์และเป็นระบบมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำกับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า การจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า และการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558 กกพ. ได้รับรายงานข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และข้อมูลการนำเข้าจากต่างประเทศ (Import) มายังระบบของสำนักงาน กกพ. ทุกๆ 1 นาที และสำหรับปีงบประมาณ 2559 กกพ. ได้รวบรวมและพัฒนาการรายงานข้อมูลการผลิตของ (VSPP) จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) รวมทั้งโครงการพลังน้ำขนาดเล็กและโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมากของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เข้ามาในระบบ กฟผ. เพื่อพัฒนาเป็นภาพรวมการผลิตไฟฟ้าของประเทศ