นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่าปัจจุบันผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังไม่เห็นความสำคัญของการทำประกันการส่งออกเท่าที่ควร เนื่องจากกังวลเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย ทั้งที่ความเป็นจริง ค่าเบี้ยประกันคิดเป็นสัดส่วนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนและให้ความคุ้มครองที่แน่นอนว่า ธุรกิจส่งออกครั้งนั้นๆ จะไม่ขาดสภาพคล่องหรืออาจถึงขั้นต้องหยุดกิจการเมื่อผลิตและส่งออกไปแล้ว ไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ซึ่งการติดตามหนี้ในต่างประเทศเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ในขณะที่ความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศยังเพิ่มสูงขึ้น โดยองค์กรรับประกันชั้นนำอย่างเอทราดิอุส (Atradius) ได้คาดการณ์ว่า สถานการณ์ความเสี่ยงการล้มละลายในประเทศพัฒนาแล้วของปีนี้และปี 2560 อยู่ในช่วงเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552
ล่าสุด ทาง EXIM BANK ได้มอบสินไหมทดแทนจำนวน 1,679,535 บาท ให้แก่นายเจฟ ฮอดด์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท สยาม ไดมาสเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเส้นไหมขนแกะฟอกย้อมสำหรับทอพรมหรือเสื้อผ้าไหมพรม ซึ่งเป็นลูกค้าบริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK และประสบปัญหาผู้ซื้อในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ไม่ชำระเงินค่าสินค้าเพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน
นายพิศฺษฐ์ กล่าวว่า กรณีของสยาม ไดมาสเตอร์ นับเป็นตัวอย่างของผู้ส่งออก SMEs ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศโดยทำประกันการส่งออกกับ EXIM BANK มาตั้งแต่ปี 2551 ทำให้ในเบื้องต้นบริษัทได้รับการชดเชยตามอัตราคุ้มครองถึงร้อยละ 90 ของมูลค่าความเสียหายในครั้งนี้ และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างไม่สะดุด ในขณะที่ EXIM BANK จะดำเนินการติดตามการชำระหนี้ทั้งหมดของผู้ซื้อรายนี้ต่อไป ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 (มกราคม-สิงหาคม 2559) มีผู้ส่งออกยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนกับ EXIM BANK รวม 12.55 ล้านบาท สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า 98% และผู้ซื้อล้มละลายอีก 2% แบ่งตามมูลค่าของประเภทสินค้า 50% เป็นข้าว รองลงมาได้แก่ อาหารกระป๋อง (20%) เส้นไหมสำหรับทอพรม (15%) อัญมณีและเครื่องประดับ (12%) และยางรถยนต์ (3%) แบ่งตามประเทศผู้ซื้อ ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และนอร์เวย์