(เพิ่มเติม) รมช.คลัง ชี้ตลาดอสังหาฯ ยังมีสัญญาณบวก หลังรัฐเดินหน้าลงทุนระบบขนส่ง, คาดภาษีที่ดินฯ ประกาศใช้ปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 6, 2016 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปีนี้มีแนวโน้มการฟื้นตัวขึ้น หลังจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง ส่งผลให้ยอดขายรวมของทั้งตลาดในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้น โดยตลอดระยะเวลามาตรการดังกล่าวพบว่ามียอดโอนกรรมสิทธิ์ 130,000 หน่วย เพิ่มขึ้นทั้งโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ถือว่าเป็นการเติบโตมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

"ช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมองภาพรวมตลาดอสังหาฯ ยังมีสัญญาณบวก แม้ภาครัฐจะยังไม่มีมาตรการกระตุ้นออกมาช่วงนี้ แต่ภาคเอกชนเริ่มเปิดตัวโครงการใหม่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นความต้องการของผู้ซื้อ"นายวิสุทธิ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ปัจจัยที่ช่วยหนุนการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ มาจากการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคมของรัฐบาลที่เดินหน้าสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางต่อขยายและเส้นทางใหม่ โดยในกรุงเทพฯ มี 12 เส้นทาง และในภูมิภาคอีก 15 เส้นทาง ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างไปเมื่อปลายปี 58 และโครงการส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จในปี 64 ทั้งนี้ เส้นทางคมนาคมจะเริ่มทยอยสร้างและเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นตัวผลักดันการขยายตัวของเมืองออกไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

รมช.คลัง กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยให้เติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ, พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา และคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ภายในเดือนต.ค.นี้ และคาดจะประกาศใช้ในปี 60

โดยในปัจจุบันเกณฑ์การจัดเก็บยังมีอัตราไม่สูงมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาส 4/59 ให้ไม่น้อยกว่าไตรมาสเดียวกันปีก่อน เพื่อรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี รวมไปถึงภาคการเกษตรกลับมาฟื้นตัวได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น

"อยากจะบอกผู้ประกอบการว่าไม่ต้องตกใจกับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีปัจจัยสี่ โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะประชาชนประมาณ 95-97% มีบ้านราคาไม่ถึง 50 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังแรก แต่การที่เราจะเก็บคนที่มีบ้านมากกว่า 50 ล้านบาท และมากกว่า 1 หลัง เพราะรัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้หวังมุ่งเน้นรายได้" นายวิสุทธิ์ กล่าว

ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในไตรมาส 3/59 มีการเติบโตขึ้นจากไตรมาส 2/59 ทั้งในแง่ยอดขาย ยอดโอนกรรมสิทธิ์ และการเปิดโครงการใหม่ แต่ในไตรมาส 4/59 ยังมีความไม่แน่นอนว่าตลาดจะมีการเติบโตหรือไม่ หลังจากกำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่กลับมาฟื้นตัวมากนัก แม้ว่าจะมีการเปิดโครงการใหม่ช่วงปลายปีก็ตาม ประกอบกับยอดการปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารก็เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 30% จากปี 58 อยู่ที่ 20% โดยผู้ประกอบการบางรายมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 50% เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และลูกค้าติดเครดิตบูโร ซึ่งปัญหาดังกล่าวทางสมาคมฯเตรียมแก้ไขและจะทำหนังสือถึงทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายในเดือนตุลาคมนี้ "ตอนนี้เราเห็นยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น โดยแบงก์ได้ใช้ข้อมูลจากเครดิตบูโรมาประกอบการปล่อยสินเชื่อ แต่หากดูไส้ในแล้วจะพบว่าลูกค้าที่เคลียร์หนี้หมดแล้วยังมีชื่อติดอยู่ในบูโร 3 ปี มองว่าไม่ยุติธรรม จึงอยากเสนอไปยังธปท. ให้ลดเหลือ 1 ปี เพื่อทำให้ธุรกิจอสังหากลับมาเติบโต เพราะคนในกลุ่มนี้ต้องการจะซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งยอมรับว่าก่อนหน้านี้ผมได้มีการหารือกับแบงก์ชาติไปแล้วเบื้องต้น ซึ่งแบงก์ชาติก็รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และอยู่ระหว่างการแก้ไข"นายอธิป กล่าว สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 5% โดยขณะนี้แนวโน้มของตลาดในกรุงเทพฯและปริมณฑลเกิดการชะลอตัวลงไปบ้าง หลังจากมีซัพพลายในแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่มากเกินไป โดยที่ผ่านมาคอนโดมิเนียมได้เปิดตัวเป็นจำนวนมากในแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง แต่คาดว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติภายใน 1 ปี ขณะที่ไตรมาส 4/59 จะมีคอนโดมิเนียมเปิดมากขึ้น แต่ทาวน์เฮ้าส์กลับได้รับความนิยมและมีการเติบโตที่ดีมากกว่าคอนโดมิเนียม เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคต้องการที่อยู่อาศัยใกล้แนวรถไฟฟ้าสายใหม่

แต่ก็ยอมรับว่าจากการที่รัฐบาลมีแนวสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาที่ดินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนของสมาคมฯ คาดว่าอาจมีการปรับราคาขายเพิ่มขึ้นตามราคาที่ดิน ถ้าหากผู้บริโภคพอใจกับราคาก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่หากพบว่าผู้บริโภคไม่สามารถซื้อได้ ผู้ประกอบการพิจารณาปรับลดราคาขายลง

ในส่วนของพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดไม่กระทบต่อภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากภาครัฐต้องการลดความเหลื่อมล้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ