กฟผ.เผยช่วง 10 ปีลงทุนราว 1.2 แสนลบ.เสริมความมั่นคงพลังงาน หวั่นปี 60 อาจไม่ได้ตามเป้าหลังโรงไฟฟ้ากระบี่-เทพาส่อล่าช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 7, 2016 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.มีแผนการลงทุนในช่วง 10 ปี (ปี 59-68) ราว 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 6 หมื่นล้านบาท และสายส่งไฟฟ้าราว 6 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าและเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน แต่เบื้องต้นการลงทุนสำหรับปี 60 อาจจะทำไม่ได้ตามแผนที่ได้รับอนุมัติงบลงทุนเกือบ 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพา ยังมีความล่าช้ากว่าแผน โดยยังไม่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ทำให้การลงทุนในส่วนนี้จะยังไม่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันตามแผนการลงทุนทั้งหมดในช่วง 10 ปี ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการได้ตามแผนหรือไม่ หลังการลงทุนในแต่ละโครงการต้องรอการอนุมัติจากหลายหน่วยงาน ทั้งในด้านของสิ่งแวดล้อม ,คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นต้น เช่น โครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า ขณะที่มีหลายโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างสายส่งขนาด 500KV "จอมบึง-บางสะพาน-สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต"ระยะทาง 800 กิโลเมตร ที่จะต้องแล้วเสร็จในปี 62-65 โดยต้องใช้เงินลงทุน 6.32 หมื่นล้านบาทนั้น ก็อาจจะแบ่งเป็น 3 สัญญา เพื่อให้การก่อสร้างรวดเร็วมากกว่าสัญญาเดียว

อย่างไรก็ตาม กฟผ.จะเร่งพิจารณาโครงการลงทุนใดบ้างที่จะสามารถดำเนินการให้ดำเนินการได้เร็วขึ้นและสามารถลงนามสัญญาได้ในช่วงไตรมาส 1/60 เพื่อตอบสนองนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจลงทุน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า

โดยเบื้องต้นกฟผ.จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนพระนครใต้ เฟส 1 กำลังผลิตรวม 1,300 เมกะวัตต์ ซึ่งตามเป้าหมายจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 62 และในอนาคตจะขออนุมัตอีก 1 เฟส กำลังผลิต 1,300 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 65 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ขณะที่การก่อสร้างสายส่งใหม่เพื่อส่งไฟฟ้าเข้ามาทำได้ยาก ดังนั้น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนเดิมทั้งพระนครใต้และบางปะกง จึงสามารถรองรับในส่วนนี้ได้โดยในส่วนของบางปะกง มีแผนจะสร้างอีก 2 เฟสเช่นกันกำลังผลิตเฟสละ 1,400 เมกะวัตต์

อนึ่ง การก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนเฟส 1 ของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าบางปะกงนั้น คณะกรรมการของกฟผ.ได้อนุมัติผลประกวดราคาไปแล้ว หากครม.อนุมัติโครงการก็จะเดินหน้าก่อสร้างได้ทันที โดยโครงการโรงไฟฟ้าทดแทนพระนครใต้ เฟส 1 ทางกิจการค้าร่วมระหว่างซีเมนส์และมารูเบนิ เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคาก่อสร้าง 1.84 หมื่นล้านบาท และโครงการโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทนเครื่องที่ 1-2 จ.ฉะเชิงเทรานั้น กิจการค้าร่วมระหว่างซูมิโตโม, แบล็ค แอนด์ วิชซ์ (ประเทศไทย) และบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคา 2.19 หมื่นล้านบาท โดยจากราคาน้ำมันและเหล็กที่ลดลง ส่งผลค่าจัดซื้อและจ้างก่อสร้างของทั้ง 2 โครงการนี้รวมกันต่ำกว่าราคากลางที่ประเมินไว้ 31.05% หรือประมาณ 1.81 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ