น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวภายมอบนโยบายภายหลังเข้ารับตำแหน่งว่า ได้เตรียมแผนงานเพื่อเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 60 ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและได้มีการรายงานมาตรการต่าง ๆ ให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง รับทราบแล้ว โดยมาตรการส่วนใหญ่คล้ายกับที่เคยดำเนินการในปีงบประมาณ 59 อาทิ การให้ส่วนราชการที่มีแผนการลงทุนขนาดเล็ก ให้เร่งเตรียมแผนงานเพื่อรองรับเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณปี 60 มีผลบังคับใช้ก็สามารถลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และเบิกจ่ายเงินได้ทันที
สำหรับเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมปีงบประมาณ 60 อยู่ที่ 96% และงบลงทุนอยู่ที่ 87% โดยในปีงบประมาณ 60 มีกรอบงบประมาณรายจ่ายอยู่ที่ 2.733 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2.104 ล้านล้านบาท คิดเป็น 77% ของงบประมาณทั้งหมด และรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 5.47 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด โดยมีงบประมาณขาดดุลอยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท
ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2560 กรมฯ จะเร่งการเบิกจ่ายของส่วนราชการทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง โดยจะให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายมากขึ้น เบื้องต้นคาดว่าน่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีงบประมาณที่ผ่านมา ที่ต่ำกว่าเป้าหมายราว 1.7% เท่านั้น เพราะยังมีปัญหาเรื่องบุคลากรที่มีอยู่จำกัด ทำให้การทำงานอาจยังไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรงบรายจ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นแม้ว่าการเบิกจ่ายจะต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ตัวเลขการเบิกจ่ายก็ยังมีประสิทธิภาพอยู่
"โครงการขนาดเล็กที่อยู่ระหว่างรอลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างมีทั้งสิ้นราว 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้วางแผนให้มีการเร่งเบิกจ่ายภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 หรือถือเป็นไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 โดยแผนการดำเนินงานทั้งหมดได้เตรียมไว้หมดแล้ว รวมทั้งยังได้มีการประสานงานไปยังคลังจังหวัดในการเป็นเครือข่ายเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอีกด้วย ส่วนโครงการขนาดใหญ่ขึ้นไปก็จะมีการเดินหน้าเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2-3 ของปีงบประมาณ 2560 เป็นต้นไป" น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าว
สำหรับวิสัยทัศน์ในการทำงานนั้น น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าวว่า ยังคงเน้นการกำกับดูแลบริหารการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะงบประมาณดังกล่าวถือเป็นเงินของแผ่นดิน ซึ่งรวมทั้งเงินในและนอกระบบที่มีอยู่จำนวนหลาย ๆ ล้านบาท โดยจะแบ่งการกำกับดูแลออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.งานให้บริการ จะมีการกำกับดูแลการใช้จายเงินของส่วนราชการให้ถูกต้องตามกฎ ระเบียบที่กำหนด และต้องเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และ 2.การกำกับดูแล โดยเฉพาะในเรื่องของกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น ระเบียบการใช้จายเงินของรัฐบาลทั้งในส่วนของราชการหรือเงินลงบุคคลต้องทำให้สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงอาจมีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้ทันสมัยและเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น ขณะนี้รัฐบาลพยายามผลักดันระบบ e-Payment หรือการยกระดับประเทศเป็นยุค 4.0 กรมก็ต้องกลับมาดูแลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะการจ่ายเงินเพื่อดูแลสวัสดิการประชาชนผ่านระบบ e-Payment ซึ่งจะทำให้มีฐานข้อมูลของผู้รับสวัสดิการทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยจากฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลางเดิมมีประชาชนที่มีรายได้น้อย 12 ราย และมีการเพิ่มมาจากการเปิดรับลงทะเบียนในช่วงที่ผ่านมาอีก 8.3 ล้านราย รวมทั้งสิ้นเป็น 20 กว่าล้านราย
"งานใหม่ของกรมฯ อาทิ การปรับระบบการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย e-Payment การยกระดับการทำงานเพื่อให้เข้ากับยุคไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นงานใหม่ที่กรมจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการเบิกจ่าย การทำงานของกรมสมัยใหม่คือ กำกับแบบเข้าใจ คาดหวังได้ในบริการ หลักคิดในการทำงานถือเป็นเรื่องที่เปลี่ยนไม่ได้ นั่นคือ เน้นการทำงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส มีวินัย แต่การทำงานต้องทันสมัย สนองนโยบายรัฐบาลด้วย" น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าว