นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การที่โรงไฟฟ้าถ่านหินของบมจ.เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย (NPS) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) เมื่อปี 50 ที่จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในระยะแรก 270 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 59 และระยะที่ 2 อีก 270 เมกะวัตต์ ในปี 60 นั้น อาจจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ทันตามกำหนด โดยกระทรวงพลังงานจะขอตรวจสอบสัญญาและเงื่อนไขการประมูลที่ผ่านมาก่อนจะพิจารณาว่าควรให้ NPS เลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้หรือไม่ โดยจะดำเนินการให้เสร็จภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าหากโรงไฟฟ้าถ่านหินของ NPS ไม่สามารถเข้าระบบได้ก็ไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมการผลิตไฟฟ้าประเทศเนื่องจากสามารถหาไฟฟ้าอื่นมาทดแทนได้ ขณะที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศยังอยู่ในระดับสูงราว 30%
อนึ่ง โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน NPS เป็นของกลุ่มบมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) โดยเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 540 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บริเวณตำบลเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันมีความล่าช้าหลังจากที่มีกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
ด้านนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า หากโรงไฟฟ้าถ่านหิน NPS อาจไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันกำหนดภายในปี 60 ก็จะยังไม่กระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันพบว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคตะวันออกมากถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้โดยรวมอยู่ที่กว่า 4 พันเมกะวัตต์เท่านั้น ทำให้มีปริมาณไฟฟ้าคงเหลือส่งเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตามกฟผ. ได้หารือกับทางกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าหากโรงไฟฟ้าดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะที่ผ่านมาทางผู้ประกอบการได้ยื่นเรื่องต่อคชก.ไปหลายครั้งแล้วแต่ยังไม่ผ่าน EHIA ออกมา ซึ่งทางกระทรวงพลังงานก็จะเชิญผู้ประกอบการเข้าหารือ เพื่อกำหนดกรอบเวลาที่เหมาะสมต่อไป
"เป็นที่น่าเสียดาย เพราะตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP2015) ต้องการขยับสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความสมดุลด้านเชื้อเพลิง จากปัจจุบันที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนสูงเกินไปถึงราว 70% ขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินก็ถูกพัฒนาไปมากแล้ว"นายกิจจา กล่าว
นายกิจจา กล่าวว่า กฟผ.ยังมีความกังวลกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากมีความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงด้านไฟฟ้าสูง เพราะแม้ว่าภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าภาคใต้จะอยู่ที่ 3 พันเมกะวัตต์ เทียบกับความต้องการใช้อยู่ที่ 2.7 พันเมกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตรวมก็ไม่ได้เดินเครื่อง 100% เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำรวมอยู่ด้วย และสาเหตุภาคใต้ไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าตกดับมากนัก เพราะมีไฟฟ้าจากภาคกลางเข้ามาเสริมในระบบ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากระบบส่งไฟฟ้า ซึ่งหากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เหลือในปริมาณมากพอก็จะสามารถเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้ดีกว่า
ขณะเดียวกันความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ยังเกิดขึ้นได้ลำบาก โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ ของกฟผ.ก็มีความล่าช้ากว่าแผน 2 ปี ส่วนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิง ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ แต่ปัญหาที่พบว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มลดลง ต้องนำเข้าก๊าวธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงกว่าก็อาจจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีกในอนาคต