นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดออกมาเป็นบวกมากขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกและความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาของการลงทุนภาครัฐ การจัดลำดับความสำคัญของทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและการปฏิรูปเศรษฐกิจระยะยาวจะยิ่งสำคัญมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งที่วางแผนไว้ประมาณปลายปี 2560 เรายังคงมีมุมมองแบบ Conservative ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าการเติบโตของจีดีพีของทั้งปี 2559 และ 2560 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.8
ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้น ปีนี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ผ่านมามีเสถียรภาพมากขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเช่นเดียวกันในทุกภาคส่วน ขณะที่เครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคม สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่มีความแข็งแกร่งขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังคงเผชิญกับความเสี่ยงขาลงจากความไม่แน่นอนของการเติบโตเศรษฐกิจโลก และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่อาจจะมีความล่าช้าเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นระยะสั้นเพิ่มเติมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งรวมถึงการให้เงินอุดหนุนทางการเกษตร และการลงทุนในโครงการขนาดเล็กในชุมชนทั่วประเทศ จากการเปิดเผยของรัฐบาล คาดว่าจะมีการประกาศมาตรการชั่วคราวออกมาเพิ่มขึ้นในไม่ช้า เพื่อจะรักษาโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นบวกตลอดช่วงที่เหลือของปี
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามในการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุงการบริการขนส่งทางบก และร่างพรบ. การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. .. เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เดิม
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประเทศไทยเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งในปลายปี 2560 มีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงในแผนเศรษฐกิจบางส่วน และการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะยิ่งสำคัญมากขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่มีความท้าทาย ช่วงเวลาในการจัดการเลือกตั้งน่าจะเริ่มชัดเจนขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งล่าสุดทางการคาดว่าจะเป็นปลายเดือนพฤศจิกายน 2559 ดังนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เรายังคงมุมมองต่อการเติบโตของเราที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดโดยรวม โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2559 และ 2560 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.8
ทั้งนี้ ประมาณการของเราว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ในไตรมาส 4/59 เพื่อเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยเราคาดว่าธปท.ยังมีพื้นที่ในการดำเนินการดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพราะแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี หากไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงการลงทุนและแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วขึ้น ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นได้ต่อเนื่อง และลดความจำเป็นของการผ่อนคลายนโยบายการเงิน