นายสมภพ พัฒนอริยางกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันน้ำขนาดเล็กมากในพื้นที่ชุมชนคีรีวง เป็นโครงการที่เกิดจากความต้องการของชาวบ้านใน ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เนื่องจากชุมชน ซึ่งตั้งอยู่ในเทือกเขาห่างไกล ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เช่น ระบบน้ำประปา ระบบสายส่งไฟฟ้าไม่สามารถเข้าถึงตัวชุมชนได้ จึงต้องอาศัยเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในการเกษตรและกิจกรรมอื่นๆ ภายในครัวเรือน ที่ผ่านมาชาวบ้านในละแวกนี้จึงต้องแบกรับต้นทุนการทำเกษตรกรรม รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อเดือนของแต่ละครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากปัญหาทางด้านพลังงานข้างต้น จึงได้มีการบูรณาการและหารือร่วมกันระหว่างชุมชน สถาบันวิชาการ และกระทรวงพลังงาน และได้เสนอโครงการผลิตไฟฟ้ากังหันน้ำขนาดเล็กมากในพื้นที่ชุมชนคีรีวง โดยเดินท่อน้ำจากแหล่งน้ำบนภูเขามายังจุดติดตั้งกังหันน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในครัวเรือนและกิจกรรมการเกษตร การดำเนินการเป็นไปในรูปแบบประชารัฐ ที่กระทรวงพลังงานในฐานะภาครัฐให้เงินสนับสนุน 60% และชาวบ้านสมทบเพิ่มอีก 40 % เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของและสร้างความภูมิใจให้กับคนในชุมชน ช่วยลดรายจ่าย พร้อมทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตของชาวบ้านได้พร้อมๆ กัน
สำหรับโครงการนี้ มีมูลค่าโครงการรวม 3,842,000 บาท กระทรวงพลังงานร่วมลงทุน 2,148,960 บาท และชุมชนลงทุน 1,693,040 บาท จำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 83 ครัวเรือน ติดตั้งกังหันน้ำขนาดต่างๆ ดังนี้ ขนาดกำลังผลิต 200 วัตต์ จำนวน 10 ชุด ขนาดกำลังผลิต 300 วัตต์ จำนวน 30 ชุด ขนาดกำลังผลิต 1,000 วัตต์ จำนวน 40 ชุด ขนาดกำลังผลิต 3,000 วัตต์ จำนวน 3 ชุด รวมกำลังการผลิต 60 กิโลวัตต์
“กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพพลังงานทดแทนในระดับชุมชนตามนโยบายประชารัฐ ให้ประชาชนและภาครัฐได้ร่วมมือกันพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ"นายสมภพ กล่าว
โครงการผลิตไฟฟ้ากังหันน้ำขนาดเล็กมากในพื้นที่ชุมชนคีรีวง เป็นหนึ่งในโครงการประชารัฐ ที่ดำเนินการโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนพลังงานทดแทนในระดับชุมชน ลดรายจ่ายด้านพลังงาน และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน โดยมุ่งเน้นการนำทรัพยากรหรือสิ่งเหลือใช้ในท้องถิ่นมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยการพัฒนาพลังงานทดแทนในระดับชุมชนที่ร่วมวางแผนและร่วมลงทุนระหว่างภาคประชาชน และภาครัฐ นอกจากจะเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน และช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ยังสอดคล้องกับทิศทางของประเทศที่เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทน ให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 อีกด้วย