พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 2 ว่า ในนามของรัฐบาลไทยและหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD) มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศสมาชิกเชื่อมั่นในประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมและมั่นใจว่า การประชุมสุดยอดโดย 34 ประเทศสมาชิกในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญไปสู่ความร่วมมือและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูมิภาคต่อไป
สำหรับกรอบความร่วมมือเอเชีย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลายประการ ที่สำคัญก็คือ ความหลากหลายในพลังความเป็นมิตรและความสมัครใจของประเทศสมาชิกที่จะร่วมมือกัน ความยืดหยุ่นและอ่อนตัวของโครงสร้างกรอบความร่วมมือและเวทีหารือ ซึ่งปัจจัยพื้นฐานสำคัญเหล่านี้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ ดังนั้น การรวมตัวในวันนี้ เป็นการส่งสัญญาณสำคัญต่อประชาคมโลกว่า เอเชียพร้อมแล้วที่จะเติบโตอย่างครอบคลุมและเป็นเอกภาพ ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเดินหน้าไปสู่ความเป็น “ประชาคมเอเชีย" ที่แท้จริงในอนาคต
ปัจจุบันนอกจากเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตลาดและมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกแล้ว ทุกอนุภูมิภาคของเอเชียยังมีพลังความเข้มแข็งที่หลากหลาย โดยเอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก (โดยธนาคารโลกได้ประเมินว่า จะขยายตัวจากอัตราร้อยละ 7.1 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 7.3 ในปี 2560) เอเชียตะวันออกมีเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ระดับแนวหน้า และลงทุนด้าน R&D เป็นอันดับต้น ๆ ในโลก เอเชียกลางมีความมั่นคงทางพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ เอเชียตะวันตก เป็นแหล่งพลังงานของโลก และมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ชั้นนำของโลก และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคงทางอาหาร และเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญเติบโตของผู้ประกอบการอันดับต้น ๆ ของโลก
ดังนั้น “เอเชียหนึ่งเดียว หลากหลายในพลัง" (One Asia, Diverse Strengths) เป็นคำตอบว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในสภาวะชะลอตัวในปัจจุบัน ด้วยประชากรร้อยละ 60 ของประชากรโลก สัดส่วน GDP 1 ใน 3 ของโลก ทุนสำรองร้อยละ 60 ของเงินทุนสำรองของโลก และที่สำคัญอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 5 ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศสมาชิก ACD จะต้องร่วมกันกำหนดทิศทางและเป้าหมายของความร่วมมือที่ชัดเจน เพื่อระดมศักยภาพและจุดแข็งที่หลากหลายของประเทศสมาชิก ในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาคเพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนแห่งเอเชีย และสร้างการเจริญเติบโตที่มั่นคงให้กับประชาคมโลก
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง วิสัยทัศน์ความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. 2030 (ACD Vision 2030) จึงเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของผู้นำ ACD ที่จะพัฒนาเอเชียไปสู่การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน มีความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ มีความมั่นคงและสันติภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีพลวัตรทางนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ของโลก ในอีก 14 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายและทิศทางที่จะสร้าง “ประชาคมเอเชีย" ในอนาคต
ซึ่งในการบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว จะต้องผลักดันความร่วมมือใน 6 เสาหลักของ ACD ที่สอดคล้องและสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 ได้แก่ (1) ความสัมพันธ์ ระหว่างความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน (2) ความเชื่อมโยง (3) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม (4) การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (5) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (6) การส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน โดยเน้นความเป็นหุ้นส่วนของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล เอกชน และประชาชน เพื่อให้ความร่วมมือในเสาหลักทั้ง 6 ประสานสอดคล้องและเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ขอสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกร่วมเป็นผู้นำในเสาหลักต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงลึกระหว่างกัน โดยเริ่มจากการจัดตั้งคณะทำงานตามเสาหลักทั้ง 6 และกำหนดเป้าหมาย กรอบเวลาการทำงาน และแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในแต่ละเสาหลักที่ชัดเจนเพื่อเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเห็นว่า สิ่งสำคัญของทุกความร่วมมือคือการนำผลการประชุมสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยอะไรที่เริ่มดำเนินการได้ ควรเร่งดำเนินการก่อน อะไรที่ใหญ่และซับซ้อนควรมีการวางแผนในระยะยาว และดำเนินการเป็นขั้นตอน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้ง ควรมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการพัฒนาความเชื่อมโยงในเอเชียและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของกการสร้างประชาคมเอเชียหนึ่งเดียวที่เข้มแข็งและไร้รอยต่อ ACD จะต้องเป็นตัวเชื่อมระหว่างความร่วมมืออนุภูมิภาคต่าง ๆ โดยไม่ควรเป็นการซ้ำซ้อน แต่ทำงานส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดแก่เอเชียของเรา
นายกรัฐมนตรี กล่าวในฐานะที่ไทยมีสภาพภูมิยุทธศาสตร์ที่เอื้ออำนวยในการเชื่อมโยง ไทยยินดีที่จะเป็นหนึ่งในสะพานเชื่อมระหว่างภูมิภาคต่างๆ ในเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันตกกับเอเชียตะวันออก ไทยเล็งเห็นศักยภาพในการผลักดันความเชื่อมโยงในทุกมิติและคลอบคลุมทั้งเอเชีย (pan-Asian connectivity) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกันระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืนของเอเชีย และเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระยะยาวของภูมิภาค
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียทั้งหมด และตอบรับกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่เพิ่มขึ้น การระดมทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆในภูมิภาค จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการเงิน ให้กระจายพลังเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่เพียงบางแห่ง ไปสู่พื้นที่ที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงสถาบันการเงิน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่ยังมีอยู่ การประชุมครั้งนี้ ไทยจึงภูมิใจนำเสนอเรื่องความเชื่อมโยง โดยเน้นประเด็นการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมการเชื่อมโยงทางการเงิน และการระดมทุนเพื่อส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสองหัวข้อหลักของการประชุมภาคธุรกิจ ACD Connect เมื่อวานนี้ ซึ่งสะท้อนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ โดยเฉพาะศักยภาพทางการเงินในภูมิภาค ACD ที่มีเงินทุนสำรองจำนวนมาก ในการสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อตอบโจทย์โลกาภิวัตน์ของเอเชียและโลกที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ไทยได้พัฒนานโยบายให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับพลวัตในปัจจุบัน นโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะช่วยส่งเสริมให้ไทยสามารถพัฒนาความร่วมมือในเชิงสร้างสรรค์กับประเทศสมาชิกใน 6 เสาหลักของ ACD ได้ นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมหนัก กิจการโลจิสติกส์ SMEs และเศรษฐกิจชายแดน ของไทยจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการยกระดับขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ระดับภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ACD รวมทั้งสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืนและการสร้างความเชื่อมโยงในเอเชียต่อไปด้วย
ไทยได้เสนอตัวเป็นประเทศผู้นำในเสาหลักด้านแนวทางสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งไทยให้ความสำคัญและผลักดันมาโดยตลอดในช่วงที่เป็นประธาน ACD และกลุ่ม 77 ซึ่งการพัฒนาประเทศไม่ควรเน้นที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงคุณภาพความสมดุลและความสุขของประชาชนด้วย เช่นหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) ของไทยที่มุ่งให้เกิดความเป็นเอกภาพระหว่างมิติของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และแนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ ( Gross National Happiness) ของภูฏาน และไม่มีสูตรตายตัวสำหรับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม เนื่องจากแต่ละประเทศมีจุดแข็ง บริบทการพัฒนาและขีดความสามารถ ตลอดจนข้อจำกัดที่แตกต่างกัน แต่ละประเทศจึงต้องมีแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง (home-grown approaches to development)
ขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิก ACD ต่างมีประสบการณ์ องค์ความรู้ที่สามารถแบ่งปันแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยเสริมซึ่งกันและกัน และสร้างความแข็งแกร่งไปด้วยกันจากภายในด้วยการเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ การผสมผสานความแตกต่างและความแข็งแกร่งของประเทศสมาชิก เพื่อผนึกพลังสร้างความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นร่วมกันของเอเชีย จึงเป็นปณิธานหลักของ ACD มาโดยตลอด นอกจากนี้ ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกลักษณะไตรภาคีภายใต้นโยบาย Thailand + 1 เพื่อช่วยประเทศที่สนใจร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น SEP นวัตกรรม เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือสาขาอื่นที่ไทยมีความเข้มแข็ง
การสร้างความแข็งแกร่งร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเอเชียไม่ได้จำกัดอยู่เพียงความร่วมมือระหว่างภาครัฐเท่านั้น แต่ต้องเป็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (inclusiveness) ในลักษณะความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาชนของทุกประเทศสมาชิก ACD ในการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในเอเชีย โดยมุ่งส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนของ ACD ไปพร้อมกับการสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับประชาคมเอเชีย ผ่านกลไกการประชุม ACD Connect Business Forum ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ โดยมีผู้แทนจากภาคเอกชน เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กลุ่มนักลงทุน และหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ ภายใต้แนวคิด “ปลุกพลังเชื่อมโยงนวัตกรรมการเงินเพื่อเอเชียที่ยั่งยืน" (Innovative Financial Connectivity for a Sustainable Asia) พวกเราจะได้รับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากการประชุมของภาคเอกชนในบ่ายวันนี้ เกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย
นอกจากนี้ ภาคประชาชนยังถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจคู่ขนานของความร่วมมือใน ACD โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การมีส่วนร่วมของภาคการศึกษาจะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับประชากรรุ่นใหม่ของ ACD ในการรับมือกับความท้าทายระหว่างประเทศทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่ รวมทั้งการผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21 และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 6 เสาหลักความร่วมมือของ ACD และเพื่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาภูมิภาคอย่างเต็มศักยภาพ ประเทศสมาชิก ACD จึงควรเร่งขยายความร่วมมืออย่างเข้มข้นในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ประเด็นท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน การบริหารจัดการน้ำ เทคโนโลยีสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีความสามารถ (Talent Mobility) ใน ACD
ทั้งนี้ การจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACD อย่างเป็นทางการ เป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกและเป็นสัญลักษณ์แห่งความต่อเนื่องและยั่งยืน เนื่องจากพวกเราได้เห็นพ้องให้จัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACD ที่คูเวต ไทยจึงขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณคูเวตสำหรับการรับเป็นที่ตั้งสำนักเลขาธิการ ACD รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายและบุคลากรของสำนักเลขาธิการทั้งหมด หลังจากนี้ ไทยเห็นว่า ประเทศสมาชิกควรเร่งหารือเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และกลไกการคัดเลือกเลขาธิการ ACD เพื่อให้การดำเนินงานของสำนักเลขาธิการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง รวมทั้ง ควรเร่งหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACD เพื่อให้ความร่วมมือมีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะประธานใหม่ของ ACD และเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 15 ณ กรุงอาบูดาบี ในเดือนมกราคม 2560 และอิหร่านซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ 3 ในปี 2561
ทั้งนี้ นายกฯ ได้เปิดการประชุม ACD Summit ครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ และร่วมประสาน จุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิกเพื่อมุ่งสู่เอเชียที่เป็นหนึ่งเดียว เอเชียที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืนและครอบคลุม และเอเชียที่จะเป็นพลวัตขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก โดยไม่ทอดทิ้งใครหรือประเทศใดไว้เบื้องหลัง