นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษาสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit) มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ราว 5 ล้านตัน/ปี ในช่วงปี 67 โดยคาดว่าสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะสามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือนธ.ค.นี้
"กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่ให้ กฟผ.ศึกษาตามแผนพลังงานของกระทรวง 5 ด้าน เรื่องนี้ต้องศึกษาร่วมกัน เป็น working group ทั้งสนพ. ,กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ,กฟผ. ,ปตท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนเสนอระดับกระทรวงเพื่อดูภาพรวม ก่อนที่สนพ.จะนำเข้าที่ประชุมกบง. (คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน) และกพช.ต่อไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูล"นายถาวร กล่าว
นายถาวร กล่าวว่า กฟผ.ได้ศึกษาพื้นที่ตั้งและเส้นทางการวางท่อส่งก๊าซฯเพื่อเชื่อมต่อกับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งจะเป็นจุดรับก๊าซฯ และต่อท่อก๊าซฯมาใช้ยังโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ อย่างไรก็ตามเพื่อลดต้นทุน ทางกระทรวงจึงให้กฟผ.ใช้ท่อก๊าซฯของปตท. ตามหลักเกณฑ์เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้าใช้ (Third Party Access) ซึ่งกฟผ.ก็พร้อมทำตาม
ตามแผนของกฟผ.ศึกษา 4 เส้นทางวางท่อก๊าซฯจาก FSRU ซึ่งอยู่ในทะเลอ่าวไทยมาขึ้นยังฝั่งและศึกษา 3 เส้นทางบนบกเพื่อต่อท่อมายังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จังหวัดสมุทรปราการ โดยโรงไฟฟ้าพระนครใต้มีความต้องการใช้ LNG ประมาณ 3 ล้านตัน/ปี ดังนั้น จึงต้องส่งอีก 2 ล้านตัน/ปี ไปโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ซึ่งกพช.กำหนดให้นำเข้าภายในปี 67 แต่กฟผ.จะขอเสนอให้นำเข้าได้ภายในปี 65 เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าทดแทนหน่วยที่ 2 ของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยการนำเข้าของกฟผ.นั้นก็เกิดจากปริมาณก๊าซฯในประเทศลดต่ำลงต้องนำเข้า LNG มาทดแทนและรัฐบาลต้องการเห็นการแข่งขันการนำเข้าเพื่อให้ประชาชนได้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำที่สุด
ส่วนการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น กฟผ.พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะจะช่วยเสริมระบบความมั่นคงในภาคใต้ และสามารถควบคุมดูแลด้านมลพิษได้ โดยใช้เทคโนโลยีระดับสูงสุด Ultra Super Critical มีเทคโนโลยีกำจัดของเสียและควบคุมคุณภาพอากาศ โดยขณะนี้ยังมั่นใจว่ารัฐบาลจะเห็นชอบให้ก่อสร้างเพราะตามข้อเท็จจริงชุมชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็สนับสนุน แต่หากไม่สามารถก่อสร้างได้ ก็จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซฯ เข้ามาทดแทน ซึ่งกฟผ.ได้ศึกษาแผนนำเข้า LNG เข้ามาใช้ในรูปแบบ FSRU ทั้งเพื่อใช้ทั้งโรงไฟฟ้าใหม่และโรงไฟฟ้าปัจจุบันทั้งโรงไฟฟ้าจะนะและโรงไฟฟ้าขนอมที่จะได้รับผลกระทบจากปริมาณก๊าซในอ่าวไทย และก๊าซฯจากแหล่งเจดีเอที่จะลดลงในอนาคตด้วย