นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ประจำปี 2559 ระหว่างวันที่ 6-9 ต.ค.59 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีสาระสำคัญของการประชุมฯ ดังนี้
การประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศประจำปี 2559 1) การประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศประจำปี 2559 เป็นการประชุมร่วมระหว่างผู้ว่าการธนาคารโลก และผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศจากประเทศสมาชิก 189 ประเทศทั่วโลก โดยนาย Jim Yong Kim ประธานธนาคารโลก ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย 2 ประการของธนาคารโลก (Twin Goals) ในการขจัดความยากจน และการเสริมสร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ โดยย้ำถึงยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาว่า จะต้องประกอบด้วย การดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Economic Growth) การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ (Investment in human beings) และการดูแลเพื่อลดความเสี่ยงที่ประชาชนจะกลับไปสู่ความยากจน (Insurance Against the Risk that People could fall back into poverty) จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าของโลก รวมถึงวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองและภัยพิบัติต่าง ๆ
โดยนาง Christine Lagarde กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้กล่าวถึงการรับมือกับการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่มีผลให้เกิดประโยชน์แก่แรงงานที่มีทักษะ และสร้างแรงกดดันแก่แรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ ส่งผลให้ IMF ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาและสวัสดิการด้านสังคมที่จะช่วยผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ และให้ความสำคัญกับการค้าด้วยการลดอุปสรรคทางการค้า
ทั้งนี้ นาง Lagarde ได้ประกาศขอบคุณ 35 ประเทศรวมถึงประเทศไทยที่ให้การสนับสนุน IMF โดยให้ยืมทุนสำรองเพื่อให้ IMF สามารถรองรับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้ พร้อมกล่าวถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำนานเกินไป และเป็นเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์ไม่ทั่วถึง (Too Low, for Too Long and Benefiting Too Few) ดังนั้นทุกประเทศจึงควรดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเติบโตแบบที่ทุกฝ่ายในสังคมได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
ในการนี้ รมว.คลังได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายของไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตของไทย การส่งเสริมสินเชื่อสำหรับชาวนาและผู้มีรายได้น้อย และการผลักดันโครงการ National E-Payment Master Plan เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึงและมีต้นทุนที่ถูกลง ขณะเดียวกัน ทำให้การส่งผ่านสวัสดิการจากภาครัฐสู่ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น รวมถึงมุมมองของประเทศไทยที่มีต่อการเสริมสร้างบทบาทของทั้ง 2 องค์กรในการร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย
2) การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 94 (94th Development Committee Meeting) ได้หารือเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของธนาคารโลก เพื่อรองรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ.2030 (2030 Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยมุ่งเน้นให้ธนาคารโลกพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิก การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ โดยจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาไปจุดที่มีความต้องการการพัฒนามากที่สุด และการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการลงทุนเพื่อการพัฒนา
ดังนั้น ในการตอบรับกับเป้าหมายดังกล่าว กลุ่มธนาคารโลกจะต้องปรับปรุงการดำเนินงานภายใน (Internal Operational Model) เพิ่มขีดความสามารถทางการเงินของธนาคารโลก พร้อมทั้งมอบหมายให้ธนาคารโลกนำเสนอมาตรการสนับสนุนเพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในการประชุมสภาผู้ว่าการฯ ประจำปี 2560 เพื่อให้มั่นใจได้ว่าธนาคารโลกมีทรัพยากรทางการเงินเพียงพอในการสนับสนุน รดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย
3) การประชุมร่วมของผู้ว่าการของประเทศสมาชิกกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF-WB Governors Joint Meeting of the South East Asia Voting Group) โดย รมว.คลัง ในฐานะผู้ว่าการของไทยในกลุ่มธนาคารโลก และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ว่าการของไทยในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบรายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินงานของสำนักงานกรรมการบริหารประจำกลุ่มออกเสียงฯ และพิจารณามอบหมายแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญในอนาคต
4) นอกจากนี้ รมว.คลังได้เข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อ "Borrow without Sorrow" โดยได้หารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับนาย Mauricio Cardenas รมว.คลังและสินเชื่อภาครัฐ ของสาธารณรัฐโคลอมเบีย, นาย Pravin Gordhan รมว.คลังของแอฟริกาใต้, นาย Moritz Kraemer เจ้าหน้าที่ Global Chief Ratings Officer Sovereigns บริษัท สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส (S&P) และนางสาว Liliana Rojas Suarez เจ้าหน้าที่อาวุโส ศูนย์การพัฒนาโลก (Center for Global Development)
โดย รมว.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินเอเชีย เมื่อปี ค.ศ.1997 ส่งผลให้มีการปฏิรูปการกำกับดูแลระบบการเงิน มีการพัฒนาตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอ และมีวินัยในการกู้ยืม ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยมีเสถียรภาพสูง สามารถรองรับความผันผวนจากภายนอกที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งได้ใช้โอกาสจากในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำในการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อรองรับกรณีธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศประจำปี 2559 รมว.คลัง ได้ร่วมหารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารโลก สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินภาคเอกชนจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้ให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาคมโลกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของไทย ตลอดจนแนวนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป